“รมว.ตรีนุช”หนุนพัฒนาอาชีพด้านสมุนไพรจ.สระแก้ว จัดสรรงบ 350 ลบ.เปิดร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์
‘รมว.ตรีนุช’ เปิดโครงการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้ปชช. ดันสระแก้วเป็นเมืองสมุนไพร พร้อมทุ่ม 350 ล้าน สร้าง ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ฯ จ.สระแก้ว เพิ่มคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสหนุน ”สระแก้วโมเดล” พัฒนาโรงเรียนคุณภาพ 58 แห่ง
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม จังหวัดสระแก้ว น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ละภาคีเครือข่าย ว่า เป็นหนึ่งในโครงการที่ กศน. จัดเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มีหลักการ คือ การตลาดนำการผลิต โดยจะลงพื้นที่รับฟังความต้องการและดูความพร้อมของชุมชน และสถานประกอบการ อย่างในจังหวัดสระแก้ว มีจุดแข็ง คือ สามารถเพาะปลูกขมิ้นชันที่มีคุณภาพ เพราะขมิ้นชันของจังหวัดสระแก้ว มีสารที่มีคุณค่าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้เห็นว่าจังหวัดสระแก้วมีจุดแข็งเรื่องของพื้นที่ สภาพอากาศเหมาะกับการปลูกสมุนไพร สามารถผลักดันให้สระแก้วเป็นเมืองสมุนไพรได้ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนมาสร้างรายได้ พัฒนาทักษะการปลูกพืชสมุนไพร เพิ่มมากขึ้น
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า โครงการนี้ จะเป็นการสร้างทางเลือกให้ประชาชน มีรายได้ และพัฒนาทักษะอาชีพ โดยจะจับคู่สถานประกอบการ ทำให้ผลผลิตมีตลาดรองรับทันที ซึ่งการพัฒนาทักษะ จะเริ่มตั้งแต่พัฒนาต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคเอกชน มาบูรณาการพัฒนาทักษะให้ประชาชนร่วมกัน โครงการนี้จะเริ่มนำร่องที่จังหวัดสระแก้วก่อน อย่างไรก็ตาม ตนพบว่าในหลายพื้นที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ จึงมอบหมายให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และนายวัลลภ สงวนนาม เลขาธิการ กศน.ไปขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
“เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ในฐานะลูกหลานชาวสระแก้วและมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในศธ. ที่ดูแลการศึกษาในทุกมิติ ทำให้เห็นถึงข้อจำกัดในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่ถึงแม้ศธ.จะได้งบประมาณเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่งบฯ ที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบุคลากร ทำให้งบฯพัฒนาน้อย เมื่อมีโอกาสดูเรื่องการศึกษาก็พยายามมองว่าจะสามารถพัฒนาด้านการศึกษาอะไรให้กับประเทศบนข้อจำกัดที่มีอยู่ โดย ศธ.พยายามจะมองว่าเราสามารถพัฒนาอะไรให้กับ ประเทศ และจังหวัดสระแก้วให้ได้ทุกมิติบ้าง ทั้งมิติด้านคุณภาพ มิติการลดความเหลื่อมล้ำ และมิติการสร้างโอกาส จึงเกิดเป็น”สระแก้วโมเดล” โดยการสร้างคุณภาพนั้น จะพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ 58 โรง ในจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่คุณภาพแค่ชื่อ มีการจัดสื่อดิจิทัล เข้าไปในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลและสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลก็จะไม่ทอดทิ้ง แต่จะสร้างเสริมให้เข้าถึงคุณภาพให้ได้ รวมถึงได้มีการจัดครู ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เข้าไปเสริมให้ เพราะถือว่าภาษาก็เป็นเรื่องสำคัญ” น.ส.ตรีนุช กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน ตนได้ปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงการสร้างโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในจังหวัด ซึ่งขณะนี้ สพฐ. เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างเร่งหาสถานที่ เพื่อจัดสร้างโรงเรียนด้วย พร้อมกับทำการสำรวจเด็กว่าจะมาเรียนกี่คน เมื่อสำรวจเสร็จแล้ว จะยื่นให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) อนุมัติสร้างโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ต่อไป การสร้างโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กฐานะยากลำบากกลับเข้าสู่การศึกษาเพิ่มขึ้น
“ส่วนการสร้างโอกาสทางการศึกษา ดิฉัน เป็น ส.ส.มาหลายสมัย ประชาชนสะท้อนมาว่าอยากมีโรงเรียนดีๆ ดังๆ ในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งหลายคนนึกถึงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนนี้เน้นสร้างเด็กมีความเก่งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ขณะนี้ ศธ.อยู่ระหว่างผลักดัน โดย สพฐ.เตรียมงบประมาณ และที่ดินสำหรับโรงเรียนนี้ไว้แล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการสร้างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดสระแก้ว ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท ต่อไปลูกหลานในจังหวัดสระแก้ว มีโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้านผู้ปกครองก็ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนไกลๆ อีกต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 สิงหาคม 2565
" ข่าวประชาสัมพันธ์, พรรคพลังประชารัฐ, ข่าวกิจกรรมพรรค, สื่อออนไลน์