โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“รมช.อรรถกร”ตอบกระทู้“สส.จักรัตน์”อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ เตรียมก่อสร้างได้ในปี 70 มั่นใจช่วยเกษตรกรเก็บกักน้ำเพิ่มได้กว่า 9,700 ไร่“ลั่น กระทรวงเกษตรพร้อมทำทุกทางเพื่อแก้ปัญหาน้ำให้ชาวหล่มสัก

“รมช.อรรถกร”ตอบกระทู้“สส.จักรัตน์”อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ เตรียมก่อสร้างได้ในปี 70 มั่นใจช่วยเกษตรกรเก็บกักน้ำเพิ่มได้กว่า 9,700 ไร่“ลั่น กระทรวงเกษตรพร้อมทำทุกทางเพื่อแก้ปัญหาน้ำให้ชาวหล่มสัก

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่8 ส.ค. นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่รัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญ จึงมอบหมายให้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน

โดยนายจักรัตน์ กล่าวว่า ตนทราบข้อมูลมาว่าประเทศไทยจะพบจะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ก็คือจะมีฝนตกมากกว่าปกติ พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีแม่น้ำสำคัญ เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนเพชรบูรณ์ก็คือ แม่น้ำป่าสัก จากเหนือสุดของจังหวัดก็คือที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก ไล่ลงมาถึงใต้สุดของจังหวัดก็คือ อำเภอศรีเทพ ความยาวของแม่น้ำป่าสัก ประมาณ 280 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ทางต้นน้ำ อำเภอหล่มสัก เกิดอุทกภัยทุกๆปี ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะจากแม่น้ำป่าสัก ไม่มีอ่างเก็บน้ำที่ต้นน้ำเลย ก็คือ ไม่มีอ่างที่จะคอยชะลอน้ำ หรือว่าตัดยอดน้ำทางจังหวัด และกรมชลประทานมีความเห็นตรงกันก็คือ ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ ก็อยู่ในโครงการพระราชดำริด้วย

“ผมอยากทราบความก้าวหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำสะดวงใหญ่ เพราะในปี 2562 ได้รับเงินศึกษาสิ่งแวดล้อมไปแล้ว แต่จนถึงปี 2567 ก็ยังไม่ผ่านประเมินสิ่งแวดล้อม จึงอยากถามว่า ความก้าวหน้าเป็นอย่างไร และปัญหาความล่าช้าเกิดจากอะไร รวมถึงจะตั้งงบประมาณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสะดวงใหญ่ได้ ในปีไหน

นอกจากนี้ นายจักรัตน์ ยังถามถึงโครงการแนวทางผันน้ำเลี่ยงเมืองหล่มสัก ที่จะช่วยไม่ให้เกิดอุทกภัยในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอหล่มสักก็คือการทำบายพาสน้ำ เพื่อลดมวลน้ำที่จะไหลเข้าเมืองให้ไหลอ้อมเมืองออกไปลงที่แม่น้ำป่าสัก ในจุดที่ไกลเมืองออก ซึ่งทราบว่าทางกรมชลประทานได้ของบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับเงินงบประมาณ จึงอยากทราบว่า เมื่อไหร่จะได้เงินงบประมาณในการศึกษาแผนงานนี้

ด้าน นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ของ สส.จักรัตน์ว่า เบื้องต้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชนในเขตอำเภอหล่มสัก ทางกรมชลประทาน ก็พยายามที่จะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการแก้ไขปัญหาในเรื่องของน้ำแล้ง น้ำท่วมในเขตอำเภอหล่มสักยังมีอีกหลายจุด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และทางกรมชลประทานก็ทราบดี และเป็นเป้าหมายที่ทางกรมชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อ

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ ที่อำเภอหล่มสัก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานนั้นได้ให้ความสำคัญกับโครงการตามพระราชดำริอยู่แล้ว ซึ่งโครงการนี้หากสร้างเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำได้ประมาณ 13.75,000,000 ลูกบาศก์เมตร โดยอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่จะอยู่ขึ้นอยู่ทางเหนือของอำเภอหล่มสัก อยู่ตอนบนของอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่นที่เรามีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปในคราวก่อน ซึ่งความคืบหน้าของโครงการนั้นได้รับการผ่านการตรวจสอบ EIA และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ และทางกรมชลประทานมีความเชื่อว่า ภายในเดือนนี้ รายงานฉบับนี้ก็จะผ่าน จากนั้นเราก็จะเร่งทำการสำรวจเพื่อที่จะวางแผนในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่

”คาดว่าเราจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ใน 2570 โดยทางกรมชลประทานคาดการณ์ว่า จะต้องใช้เงินงบประมาณถึง 975 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 4 ปีแล้วเสร็จในปี 73 ซึ่งเราเชื่อว่าจะมีพื้นที่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรจะได้รับประโยชน์กับการที่เราจะเก็บกักน้ำเพิ่มได้ประมาณ 9700 ไร่“นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า วานนี้ ร.อ.ธรรมนัส ,ปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมด้วยตน ได้เดินทางไปร่วมประชุมและสัมมนาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และก็มีการได้ร่วมสัมมนาพูดคุยกับทางผู้บริหารของสำนักงาน กปร.ด้วย ซึ่งบทความสนทนา เมื่อวานก็คือการที่กระทรวงเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมารวมกัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการไปแล้ว 4900 โครงการจาก 5000 กว่าโครงการ ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้กับพี่น้องประชาชนในทั่วภูมิภาคได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่

ในเขตพื้นที่ในอำเภอเมืองในเขตเทศบาลเมืองของพี่น้องชาวอำเภอหล่มสัก ก็มีปัญหาในเรื่องของน้ำเอ่อล้นทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนได้รับความเดือดร้อน กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมชลประทานเราได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเอ่อล้นในเขตเทศบาลเมืองหล่มสักเป็น 2 รูปแบบ ซึ่งแบบแรกอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร คือการก่อสร้างอ่างเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะกักเก็บน้ำที่จะไหลลงไปเอ่อล้นในเขตชุมชนของเทศบาลเมืองหล่มสัก โดยทางสำนักงานบริหารโครงการชลประทาน มีแผนการที่จะดำเนินการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองหล่มสัก หลายโครงการยกตัวอย่างเช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหินโง่น อ่างเก็บน้ำห้วยผักกูด โครงการต่าง ๆ ทางกรมชลประทานวางแผนว่าจะลงมือทำในอนาคตอันใกล้นี้

ในส่วนของแนวทางที่ 2 น่าจะรวดเร็วกว่า โดยกรมชลประทานกำลังพิจารณาที่จะขยายความกว้างของคลองส่งน้ำสายใหม่ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก โดยเรามีการสำรวจพื้นที่แล้ว และมีแผนที่จะขยายคลองเพิ่มให้เป็นความกว้างประมาณ 40 เมตรกรมชลประทานจะใส่แผนในการสำรวจศึกษาออกแบบในปี 69 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะแบ่งเบาภาระการผันน้ำที่แม่น้ำป่าสักได้ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระในการผันน้ำแล้ว การขยายก็หมายความว่า จะเป็นการเพิ่มความจุเก็บกักน้ำไปในตัวด้วย

“ไม่ว่าจะเป็นแนวทางที่หนึ่งในการสร้างอ่างเก็บน้ำหลาย ๆ อ่างเก็บน้ำเพิ่ม บริเวณเหนืออำเภอหล่มสัก หรือว่าแนวทางที่ 2 ในการที่จะขยายคลอง เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระการผันน้ำ ผมเชื่อว่า ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาไม่ว่าโครงการไหนที่สามารถดำเนินการได้ก่อน เรายินดีที่จะดำเนินการก่อน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำความเข้าใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญเราจะออกแบบสำรวจให้เสร็จรวดเร็วที่สุด“

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางกรมชลประทานได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะทำช่องลัดน้ำ ซึ่งภูมิประเทศตรงนั้น แม่น้ำป่าสักมีลักษณะเป็นตัวซี มีฝายอยู่ด้านบน ถ้าเราจะไปทำการปรับปรุงจะต้องผ่านกระบวนการในการที่จะรับฟังความคิดเห็นในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใช้เวลานาน จึงได้พูดคุยกับทางกรมชลประทานให้แยกทำเป็น 2 มิติ คือการปรับปรุงฝายทั้งด้านบนและด้านล่างของแม่น้ำสายนี้ก็ทำไป อีกส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำช่องลัดน้ำซึ่งจะแยกกับฝายทั้งสองตัวที่เราตั้งใจจะทำ พอเราทำทางลัดน้ำ ก็ไม่ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ ไม่ต้องผ่านขอความเห็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะว่าเราไม่ได้ไปทำเพิ่มในแหล่งน้ำ แต่เราใช้พื้นที่ ๆ เป็นที่ดินในการขุดทางลัดขึ้นมาเพิ่ม ดังนั้น การระบายน้ำหรือว่า การเดินทางของน้ำในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านคลองสีฟันจะสามารถระบายน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทางกรมชลประทานได้วางแผนที่จะทำการศึกษาออกแบบให้แล้วเสร็จในปี 68 ใช้เวลาไม่นาน และจะเข้าแผนในปี 69 ซึ่งถ้าเราสามารถทำโครงการนี้สำเร็จลุล่วง จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 4000 ไร่

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 8 สิงหาคม 2567

" ,