โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“พล.อ.ประวิตร” ถก กนช.ไฟเขียวร่างแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี เปิด10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566

“พล.อ.ประวิตร” ถก กนช.ไฟเขียวร่างแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี
เปิด10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ กนช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566–2580) ที่ปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายตามกรอบวิสัยทัศน์ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” โดยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 13 กระทรวง 51 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ ค่าเป้าหมาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์ แผนงานภายใต้แผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจำนวน 7 พื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ และภาคประชาชน เพื่อให้ร่างแผนแม่บทดังกล่าวมีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

สำหรับการปรับปรุงแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ได้นำประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ เช่น สถานการณ์ของโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการฟื้นตัว การเชื่อมโยงตัวชี้วัดและเป้าหมายกับแผนระดับชาติและแผนระดับนานาชาติ การปรับปรุงกรอบแนวทางการพัฒนา จากเดิม 6 ด้าน เป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีการควบรวมแผนแม่บทฯ เดิมด้านจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดินเข้าด้วยกัน เพื่อให้ครอบคลุมระบบนิเวศของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และ 5.การบริหารจัดการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการกำหนดเป้าหมายแต่ละระยะโดยนำงบประมาณมาพิจารณาประกอบ รวมถึงการปรับปรุงจำนวนกลยุทธ์ โดยเพิ่มกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดกลุ่มกลยุทธ์แผนแม่บทด้านบริหารจัดการให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดธรรมาภิบาลด้านน้ำ เช่น การส่งเสริมองค์กรและการมีส่วนร่วม การจัดทำเครื่องมือในการบริหารจัดการ การจัดทำงบประมาณและการเงิน ทั้งกลุ่มโครงการที่สามารถดำเนินการได้เลย ให้ขับเคลื่อนผ่านช่องทางปกติ และโครงการที่ดำเนินการจำเป็นต้องขับเคลื่อน แต่ต้องให้มีการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบ หรือแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามแผนแม่บทฯ เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและติดตามประเมินผลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม กนช. ยังได้เห็นชอบ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ประกอบด้วย 1.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท 2.เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3.ปฏิบัติการเติมน้ำ 4.กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 5.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร 6.เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ รับน้ำนอง 7.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 8.เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน 9.สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และ 10.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 แนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และผลการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และข้อเสนอการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำด้วย


ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์​ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 19 ตุลาคม 2565

" ,