“อัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์”วอน หน่วยงาทที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย แนะ เพิ่มแหล่งเก็บน้ำ และขยายเส้นทางน้ำให้น้ำมีทางไปได้
นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เราปฎิเสธไม่ได้ว่าน้ำ เป็นต้นกำเนิดทุกสิ่ง น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เราใช้บริโภคอุปโภคกันทุกคน แต่เมื่อน้ำน้อยเกินไปก็เกิดปัญหาภัยแล้ง เมื่อน้ำมากเกินไปก็เกิดปัญหาอุทกภัย 2 ปัญหานี้เกิดขึ้นที่อำเภอวิเชียรบุรี และศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำป่าสักเป็นหัวใจหลัก ซึ่งมีความยาวราว 350 กิโลเมตร ไหลผ่านตั้งแต่เหนือสุดไปถึงใต้สุดของจังหวัด ปัญหาคือความลาดชันของแม่น้ำป่าสัก จุดสูงสุดของความลาดชันอยู่ที่ 190 เมตรส่วน จุดต่ำสุดอยู่ที่อำเภอศรีเทพ อยู่ที่ประมาณ 40 เมตร จากความลาดชันนี้ทำให้อำเภอวิเชียรบุรีและศรีเทพ ไม่สามารถเก็บกักได้จากแม่น้ำป่าสักและไหลออกไปจังหวัดอื่นเกือบหมด
นายอัคร กล่าวต่อว่า ตนจึงอยากหารือ2 ประเด็นหลักคือ ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาน้ำท่วม สำหรับปัญหาภัยแล้ง จังหวัดเพชรบูรณ์มีครัวเรือนทั้งหมดเกือบ 300,000 ครัวเรือน โดยทำอาชีพเกษตรกรรมไปแล้วเกือบ 100,000 ครัวเรือน คิดเป็น 38% ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ ทุกคนต่างหวังว่าน้ำฝนจะตกมาในปริมาณที่พอเพียง และตกตามฤดูกาล แต่ฝนกลับไม่ตกและ น้ำก็กักเก็บไม่พอ เช่น พื้นที่ในอำเภอวิเชียรมี พืชผลเสียหายทางการเกษตรกว่าพันไร่ เกษตรกรเสียหายหนัก โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพด เช่น ตำบลทรัพย์สมบูรณ์ตำบล วัดประดู่และตำบลพุเตย ถ้าประเมินค่าความเสียหายถ้าเป็นข้าวก็ตกประมาณ 1000 ไร่ ตกอยู่ที่ 7.9 ล้านบาท ถ้าเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ตกอยู่ที่ 11.2 ล้านบาท
“สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าเกษตรกรมีรายได้ลดลงจากการขายพืชผลทางการเกษตร แทนที่มีเงินจะไปจ่ายค่าเทอมลูก แทนที่จะมีเงินไปจ่ายในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือว่าจ่ายหนี้สิน ผมจึงฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเพิ่มแหล่งเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ถ้ามีวิธีที่ไวกว่านี้ผมก็ยินดีอย่างยิ่ง”นายอัคร กล่าว
นายอัคร กล่าวต่อถึงปัญหาอุทกภัย อาจจะดูย้อนแย้งจากปัญหาแรก แต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง แต่ในหลายปีที่ผ่านมาความรุนแรงของปัญหานี้ทวีคูณยิ่งขึ้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของอำเภอเชียรบุรีและอำเภอศรีเทพ ตั้งอยู่ช่วงทางผ่านน้ำ และเป็นจุดที่ต่ำกว่าอำเภออื่นๆ ทำให้น้ำจากตอนเหนือไหลลงมาท่วม 2 อำเภอนี้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับแม่น้ำป่าสักนั้นตื้นเขิน จึงไม่สามารถจุน้ำทั้งหมดไว้ได้ การระบายน้ำจึงเป็นไปได้ยากและช้ามาก รถไม่สามารถสัญจรได้ ต้องใช้เรือในการนำส่งอาหาร และส่งของใช้จำเป็น จากเหตุการณ์นี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของบ้านเรือน พืชผลทางการเกษตร ผมจึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยขยายเส้นทางน้ำให้น้ำมีทางไปได้
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 16 สิงหาคม 2566