ทีม ศก. พรรคพลังประชารัฐ ‘’ดร. ม.ล.กรกสิวัฒน์-ดร.บุณณดา“ วิพากษ์รัฐบาล เรื่อง การป้องกันอุบัติเหตุรถทัวร์ติดก๊าซ
วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคฯ ,ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ อดีตโฆษกกระทรวงทรัพยากรฯ , นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโบบายและวิชาการและอดีต รมว.กระทรวงการคลัง และ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร วิจารณ์ปัญหารถทัวร์ติดก๊าซ
ดร.มล.กรกสิวัฒน์ ตั้งคำถามว่า ทำไมยานยนต์ติดก๊าซ NGV ไทยจึงเกิดโศกนาฏกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ถ้าเป็นตามมาตรฐานยุโรปจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้
“การใช้ก๊าซ NGV ทำให้ประหยัด จึงต้องยอมรับว่า รถทัวร์และรถบรรทุกนิยมใช้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ จะพุ่งเป้าไปที่คนขับรถ ทั้งที่ดูแล้วน่าจะเป็นปลายเหตุเสียมากกว่า และเนื่องจากครั้งนี้ทำให้สูญเสียเด็กเล็กไปจำนวนมาก รวมทั้งคุณครูผู้กล้าหาญ พรรคพลังประชารัฐจึงต้องการเจาะลึกเรื่องนี้” ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ดร.มล.กรกสิวัฒน์ แจ้งว่า ปัญหาเกิดจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2547 ที่ภาครัฐต้องการโปรโมตการขาย NGV จึงออกกฎเกณฑ์ที่หย่อนยานและบิดเบือนเรื่องอันตราย ดังนี้
1) มีการรณรงค์โดยหน่วยงานของรัฐด้านพลังงานว่า ก๊าซ NGV ไม่ติดไฟง่ายปลอดภัยมากกว่าน้ำมัน ทั้งที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีประกายไฟ ก๊าซที่รั่วไหลมีแรงดันสูงจะเกิดไฟไหม้รุนแรง
2) มีการรณรงค์ว่าก๊าซ NGV เมื่อรั่วไหลจะกระจายตัวลอยขึ้นสู่อากาศไม่เป็นอันตราย เพราะไม่สะสมจนเกิดเพลิงไหม้ และปล่อยปละละเลยให้ติดตั้งถังก๊าซภายในห้องผู้โดยสาร ห้องเก็บสัมภาระโดยปราศจากเรือนกักก๊าซ (gas tight housing) เมื่อเกิดเหตุก๊าซรั่วทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตกับผู้โดยสาร
3) รัฐเน้นส่งเสริม NGV โดยอนุญาตให้ผู้ติดตั้งเลือกมาตรฐานความปลอดภัยต่ำ หรือ สูงก็ได้ เช่น เรื่องการไม่บังคับให้ต้องใช้วาร์วไฟฟ้าติดหัวถังเพื่อตัดก๊าซรั่ว ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่จำเป็นที่จะรักษาชีวิตคนได้จำนวนมาก
“รัฐไม่ควรโยนความผิดให้เอกชนเพียงฝ่ายเดียว เพราะต้นเหตุเกิดจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2547 ที่เน้นผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV จนย่อหย่อนมาตรฐานความปลอดภัยลง” ดร.มล.กร กล่าว
ดร.มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ถึงเวลาต้องปฏิรูปมาตรฐานความปลอดภัยให้ครบวงจร ทั้งตำแหน่งติดตั้งถังที่ควรติดบนหลังคา หรือ ท้ายรถนอกห้องโดยสาร ต้องติดตั้งอุปกรณ์วาร์วไฟฟ้าเพื่อตัดการจ่ายก๊าซหากก๊าซรั่ว และกระบวนการตรวจสอบประจำปีจะต้องแก้ไขเป็นการเร่งด่วนที่สุด
ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ อดีตโฆษกกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวไม่เห็นด้วยที่ผู้มีอำนาจจะประกาศยกเลิกทัศนศึกษา เพราะจะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้โลกนอกห้องเรียน และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงขอเสนอแนะให้ปรับปรุงระเบียบ ดังนี้
1. กำหนดระดับชั้นและระยะทางให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
2. กำหนดสัดส่วนจำนวนครูผู้ดูแลที่เหมาะสม
3. ก่อนการเดินทาง ต้องซักซ้อมแผนฉุกเฉิน ทดสอบประตูฉุกเฉิน
4. กำหนดมาตรฐานยานพาหนะให้สูง และมีหลักฐานการตรวจสอบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
“เด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ เราทุกคนมีหน้าที่ต้องหวงแหนและช่วยป้องกัน” ดร.บุณณดา กล่าว
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 8 ตุลาคม 2567