“พัชรวาท” รับทุกข้อห่วงใยในการอภิปรายด้าน ทส. กำชับหน่วยงานในกระทรวงทรัพย์ฯ นำไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (12 กันยายน 2566) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการชี้แจงต่อรัฐสภา ในการแถลงนโยบายรัฐบาลของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สมาชิกรัฐสภาได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะถึงแนวทางการทำงานในหลายประเด็น ว่า ขอบคุณทุกข้อห่วงใย เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลังมานี้ จึงได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) นำทุกข้อกังวลไปกำชับหน่วยงานในสังกัด ให้รับข้อสังเกตต่าง ๆ ไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องดำเนินมาตรการลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะและโรงงานอุตสหากรรม รวมถึงการควบคุมการเผาป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคการเกษตรและการจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างมาตรการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพื่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน
ในส่วนของการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ได้สั่งการให้กำชับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการการใช้น้ำของประชาชน เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่วิกฤต นอกจากนี้ ยังได้สั่งการเตรียมพร้อมการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการบรรเทาสถานการณ์ การจัดจุดให้บริการน้ำอุปโภค – บริโภค พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 47 โครงการ 48 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งรุนแรงได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับข้อกังวลถึงการรับมือกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือเป้าหมาย NDC พ.ศ. 2564 – 2573 และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เป็นแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต โดยได้มีการออกระเบียบส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนสามารถเข้าร่วมปลูกและดูแลรักษาป่า ป่าชายเลน เพื่อการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างภาคเอกชนหรือชุมชนกับภาครัฐในสัดส่วน ร้อยละ 90 ต่อ 10 หรือตามแต่ข้อตกลง และการผลักดันกลไกภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้กับภาคเอกชน โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย รวมถึงสร้างรายได้และโอกาสในการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ
และประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ได้กำชับให้สร้างความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการจัดการและคัดแยกขยะครัวเรือน ขยะชุมชน ตั้งแต่ต้นทาง การยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง ให้มีการจัดการที่ดี การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการขยะในภาคอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีการจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปตามแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศตามที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดทำไว้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการเร่งรัดการออกกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถเสนอมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุม
สุดท้ายในประเด็นของการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรในเขตพื้นที่ป่า ภายใต้โครงการ คทช. กระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในลักษณะแปลงรวม รวมถึงมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ยังคงรักษามิติในการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยได้มีการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566