โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: ข่าวกิจกรรม

“รมว.ธรรมนัส” เดินหน้า 3 นโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. มุ่งสร้างเสถียรภาพยาง ปราบปรามการนำเข้ายางผิดกฎหมาย ประสานภาคเอกชนร่วมลงทุน

,

“รมว.ธรรมนัส” เดินหน้า 3 นโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. มุ่งสร้างเสถียรภาพยาง ปราบปรามการนำเข้ายางผิดกฎหมาย ประสานภาคเอกชนร่วมลงทุน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพารา โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารระดับสูงของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พนักงานในสังกัด ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ต้องการมาพบปะและหาแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกัน ซึ่งต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการการทำงานไปพร้อมกัน โดยมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) การปรับสมดุลปริมาณยางพาราในประเทศ ได้มอบหมายให้ กยท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบสต็อกยางพาราให้ตรงกัน รวมถึงให้ตรวจสอบจำนวนสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน เพื่อจัดทำเป็น Big data ใช้ในการบริหารจัดการยางให้เกิดเสถียรภาพ
2) การปราบปรามการนำเข้าสินค้าภาคการเกษตรมาสู่ราชอาณาจักรแบบผิดกฎหมาย จะต้องเอาจริงเอาจัง และมีบทลงโทษอย่างเด็ดขาดสำหรับผู้กระทำผิด และ
3) ดึงภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับ กยท. โดยมีแนวทางในการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น ยางล้อรถยนต์ เป็นต้น เพื่อใช้ในส่วนราชการ และใช้ภายในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักรด้วย

“อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหาร กยท. จะสามารถเดินหน้าหามาตรการต่าง ๆ มาขับเคลื่อนให้ราคายางดีดีกว่านี้ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ดีกินดี และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวสวนยางให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 6 พฤศจิกายน 2566

“สส.สัมพันธ์”เยี่ยมคารวะ“รองนายกรัฐมนตรี” มาเลเซีย หารือแนวทางผลักดันพัฒนาพื้นที่ติดต่อทางชายแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อเป็นของขวัญให้ ปชช.ทั้ง 2 ประเทศ

,

““สส.สัมพันธ์”เยี่ยมคารวะ“รองนายกรัฐมนตรี” มาเลเซีย หารือแนวทางผลักดันพัฒนาพื้นที่ติดต่อทางชายแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อเป็นของขวัญให้ ปชช.ทั้ง 2 ประเทศ

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส. นราธิวาส เขต 3 และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตนได้เข้าเยี่ยมคารวะ ท่านดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ บิน ฮัจญี ยูโซ๊ะ (YAB Dato’ Sri Haji Fadillah Bin Haji Yusof) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ (Timbalan Perdana Menteri Dan Menteri Perladangan Dan Komoditi) ณ อาคารรัฐสภามาเลเซีย เพื่อหารือถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อไทยและมาเลเซีย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า การค้าชายแดนบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ในอำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องร่วมกันไว้ ทั้งนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า การขนส่งสินค้าข้ามแดน การเดินทางของประชาชน การส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และประชาชนอย่างแท้จริง ตามแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

“การหารือในวันนี้นั้นเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุผลสำเร็จทั้งโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส – เปิงกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย) แห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส – เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย”นายสัมพันธ์ กล่าว

นายสัมพันธ์ เปิดเผยด้วยว่า ดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ เห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมมือผลักดันการพัฒนาพื้นที่ติดต่อทางชายแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางสัญจรของประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าชายแดน การลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งตั้งความหวังว่า โครงการที่ขับเคลื่อนร่วมกันจะเป็นของขวัญให้กับประชาชนทั้งสองประเทศที่ดีที่สุด และท่านได้ให้เกียรติตอบรับคำเชิญ พร้อมที่จะเยือนจังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ในโอกาสอันใกล้นี้เพื่อส่งเสริมมิตรภาพอันแน่นแฟ้นและยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2566

“รมว.ธรรมนัส” เดินหน้าสร้างกลไกตลาดเพิ่มรายได้เกษตรกรพื้นที่สูง ลดปัญหาความยากจนมุ่งแก้ฝุ่น PM2.5 ยั่งยืน

,

“รมว.ธรรมนัส” เดินหน้าสร้างกลไกตลาดเพิ่มรายได้เกษตรกรพื้นที่สูง ลดปัญหาความยากจนมุ่งแก้ฝุ่น PM2.5 ยั่งยืน

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูง เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อีกทั้งยังเยี่ยมชมจุดเรียนรู้ ได้แก่ พืชสวนและความหลากหลายทางชีวภาพ พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ และศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับสถานการณ์การเผาและหมอกควันในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เกิดจุดความร้อน (Hotspot) ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ใน ปี 2566 พื้นที่ดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง พื้นที่ 1,680,599.48 ไร่ พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าไม้ 1,220 จุด พื้นที่เกษตร 349 จุด และพื้นที่ดำเนินงานฯ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง พื้นที่ 6,269,094.43 ไร่ พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าไม้ 6,042 จุด และพื้นที่เกษตร 1,726 จุด
กระทรวงเกษตรฯ โดย สวพส. มีแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 บนพื้นที่สูง โดยมีอำเภอแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเผาพื้นที่สูง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 1) จัดทำแผนที่ดินของเกษตรกรรายแปลงเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งแยกพื้นที่ป่าและที่ทำกิน วางแผนพัฒนาชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ ระเบียบ และกฎหมาย แก้ไขปัญหาอย่างพุ่งเป้า ตรงตามบริบทพื้นที่ ปัญหาและความต้องการของชุมชน 2) การสนับสนุนชุมชนป้องกันไฟป่า ส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการป้องกันไฟป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร 3) การจัดการเศษวัสดุการเกษตร (ชีวมวลอัดแท่ง/ปุ๋ยอินทรีย์) สนับสนุนชุมชนโดยการรับซื้อเศษวัสดุการเกษตรภายใต้ข้อตกลงและราคาที่เหมาะสมเพื่อนำไปผลิตชีวมวลอัดเม็ด 4) การส่งเสริมด้านอาชีพ ด้วยเกษตรมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง และตลาดนำการผลิต
5) การพัฒนามาตรฐาน GAP PM2.5 Free และ 6) การเพิ่มช่องทางการตลาดผลผลิต (green product)

นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานใรสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำหรับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใต้มาตรฐานการผลิตพืช มีแนวทางการขับเคลื่อนของกรมวิชาการเกษตร ในการเพิ่มมูลค่า เพิ่มแรงจูงใจ (เกษตรพันธะสัญญา) และเร่งการย่อยสลายตอซังข้าวโพด โดยใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ มุ่งดำเนินการทั้งในเรื่อง มาตรฐานการผลิตพืช GAP PM 2.5 FREE การปรับเปลี่ยนพื้นที่สูง โดยการเปลี่ยนพืชปลูก (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด) และการเปลี่ยนพฤติกรรม กรณีปลูกพืชเดิม (ข้าวโพด) และการปรับเปลี่ยนบนพื้นราบ โดยการปลูกข้าวโพดทดแทนพื้นที่สูง บนพื้นที่นอกเขตชลประทาน/ไม่เหมาะสมสำหรับนาปรัง
“การลงพื้นที่ในวันนี้ ต้องการมาศึกษารูปแบบการจัดงานพืชสวนโลกของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล และกลายเป็นมรดกของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะนำมาเป็นแนวทางในการจัดงานพืชสวนโลกของจังหวัดอุดรธานีต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องการมาติดตามการขับเคลื่อนงานของ สวพส. โดยมุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่สูง ต้องการให้เค้ามีงาน มีอาชีพ โดยใช้ตลาดนำ จึงได้มอบหมายทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการทำงาน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2566

”จีรเดช- อนุรัตน์ สส.พะเยา“ลุยพบปะชาวบ้านในพื้นที่ ชี้แจงนโยบายโฉนดที่ดิน สปก.มั่นใจถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันประเทศก้าวไปข้างหน้าได้แน่นอน

,

”จีรเดช- อนุรัตน์ สส.พะเยา“ลุยพบปะชาวบ้านในพื้นที่ ชี้แจงนโยบายโฉนดที่ดิน สปก.มั่นใจถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันประเทศก้าวไปข้างหน้าได้แน่นอน

นายจีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและนายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา เขต 2 ได้รับการประสานจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่พบปะผู้นำท้องที่และท้องถิ่นในพื้นที่ จ.พะเยา เขต3 ซึ่งมีอำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน เพื่อรับทราบปัญหาความต้องการในเรื่องของแหล่งน้ำ ตลอดจนชี้แจงแนวนโยบายโฉนดที่ดิน สปก.โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกรมชลประทาน
สำนักงานปฏิรูปที่ดิน(สปก)และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ) เข้าร่วมชี้แจงและหาแนวทางในการแก้ไขในครั้งนี้

“ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาก็ได้ถือโอกาสที่มีเวลาว่างเว้นจากการเข้าร่วมประชุม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้าน พร้อมทั้งร่วมกันหารือถึงแนวทางการพัฒนาและขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดพะเยา ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ประสานร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดปัญหา และขับเคลื่อนทุกการพัฒนาจังหวัดของเราให้ก้าวไปข้างหน้า“นายจีรเดช กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2566

“อามินทร์”หนุน นโยบายรักษาความสงบเรียบร้อย ก.มหาดไทย วอน ปชช.ให้ความร่วมมือกับ จนท.รัฐ ช่วยกันลดความรุนแรงในสังคมเพื่อชีวิตที่ดีของลูกหลาน

,

“อามินทร์”หนุน นโยบายรักษาความสงบเรียบร้อย ก.มหาดไทย วอน ปชช.ให้ความร่วมมือกับ จนท.รัฐ ช่วยกันลดความรุนแรงในสังคมเพื่อชีวิตที่ดีของลูกหลาน

นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวถึงกรณีนโยบายการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของกระทรวงมหาดไทยว่า ถือเป็นนโยบายที่จะเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมไทย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ผู้ลักลอบครอบครองอาวุธปืน หากสามารถทำได้จริงปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้นอีก สังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวก็ไม่ต้องมาหวาดระแวงกับภัยอันตราย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

“วันนี้ถือเป็นวันที่เริ่มจัดระเบียบสังคมพร้อมกันทั่วประเทศ แต่กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ ๆ มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนในทันที จะเป็นการช่วยกันสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม เพื่อรักษาความมั่นคง สร้างความสุขให้กับประชาชนและประเทศชาติได้“นายอามินทร์ กล่าว

นายอามินทร์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การครอบครองและพกพาอาวุธปืน ความรุนแรง การพนัน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถกวาดล้างให้หมดไปจากสังคมได้ วันนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ประชาชนทุกคนก็ต้องให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐด้วย อย่างผู้ที่ครอบครองแบลงค์กัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ก็ขอให้ไปแสดงตนต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ด้วย ถ้าเราร่วมมือกันคนละเล็กละน้อย ปัญหาความรุนแรงในสังคมก็จะลดลง สภาพสังคมไทยก็จะดีขึ้น เพื่อลูกหลานของพวกเราในอนาคต

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2566

“กระแสร์ สส.หนองคาย” วอน แรงงานชาวอีสานในอิสราเอลกลับบ้านโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัย เผย ยินดีช่วยประสานงานส่งชื่อให้ รบ.ดูแล

,

“กระแสร์ สส.หนองคาย” วอน แรงงานชาวอีสานในอิสราเอลกลับบ้านโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัย เผย ยินดีช่วยประสานงานส่งชื่อให้ รบ.ดูแล

นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ สส.หนองคาย เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ กล่าถึงสถานการณ์สงครามในประเทศอิสราเอลว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ ตนได้รับรายงานว่ามีชาวหนองคาย ตำบลเหล่าต่างคำ เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล เบื้องต้นมีจำนวน 18 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ครอบครัวสามารถติดต่อได้แล้ว และตนได้นำรายชื่อทั้ง 18 ราย ส่งต่อให้กับทางกระทรวงแรงงาน และกระทรวงต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย

นายกระแสร์ กล่าวต่อว่า ในตอนนี้ทางการอิสราเอลได้เพิ่มปฏิบัติการภาคพื้นดินในบริเวณฉนวนกาซาอย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้สถานการณ์สู้รบรุนแรงยิ่งขึ้น และเป็นอันตรายต่อชีวิตและความปลอดภัยของชาวไทยในอิสราเอล ผมจึงขอให้พี่น้องชาวหนองคายที่มีญาติทำงานในประเทศอิสราเอล ช่วยแจ้งให้พี่น้องแรงงานที่ยังอยู่ในอิสราเอล เปลี่ยนใจกลับมาโดยเร็วที่สุด เพราะหากยังอยู่ที่อิสราเอลอาจจะมีเกิดอันตราย จึงอยากขอร้องให้คนไทยกลับมาก่อน และรัฐบาลพร้อมจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“สำหรับแรงงานไทยทุกคนไม่ใช่เฉพาะจังหนองคาย หากใครประสงค์จะเดินทางกลับ สามารถแจ้งผ่านมาทางเพจผมได้เลย ผมจะรวบรวมรายชื่อและนำเรียนส่งทางรัฐบาลต่อไปครับ หรือท่านสามารถแจ้งสถานทูตฯ หรือเดินทางมายังศูนย์พักพิงได้ที่: รร. David InterContinental, Kaufmann Street 12, Tel Aviv- Yafo, 61501 กลับบ้านเราก่อนครับ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 ตุลาคม 2566

“สัมพันธ์” ประธาน กมธ.แก้ปัญหาหนี้สินฯ เผย ประสาน ก.คลัง ออกระเบียบตาม พรบ.กองทุนฯฉบับใหม่ เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ หลังยังถูกบังคับให้ชำระหนี้ในมูลหนี้เดิม

,

“สัมพันธ์” ประธาน กมธ.แก้ปัญหาหนี้สินฯ เผย ประสาน ก.คลัง ออกระเบียบตาม พรบ.กองทุนฯฉบับใหม่ เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ หลังยังถูกบังคับให้ชำระหนี้ในมูลหนี้เดิม

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงคืบหน้าสำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
ได้มีการเชิญผู้จัดการ กยศ.มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ

โดยทางคณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้บังคับพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยเห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการคำนวณยอดหนี้ใหม่ทั้งอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และลำดับการตัดชำระหนี้

“ทำให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน โดยยังคงถูกทวงถามและบังคับคดีให้ชำระหนี้ในมูลหนี้เดิม ทางกรรมาธิการฯ จึงขอความอนุเคราะห์ทางกระทรวงการคลังได้เร่งพิจารณาเร่งดำเนินการออกข้อบังคับฯ ให้เป็นไปตาม พรบ.ดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 ตุลาคม 2566

“สันติ” รมช.สธ.กำชับหน่วยบริการสาธารณสุขจ.เพชรบูรณ์ “เตรียมพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินรับฤดูกาลท่องเที่ยว”

,

“สันติ” รมช.สธ.กำชับหน่วยบริการสาธารณสุขจ.เพชรบูรณ์
“เตรียมพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินรับฤดูกาลท่องเที่ยว”

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานห้องฉุกเฉินคุณภาพ หน่วยบริการฟอกไต พร้อมมอบของเยี่ยมไข้ผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ให้การต้อนรับ
นายสันติ กล่าวว่า ได้กำชับให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะในช่วงใกล้จะเข้าสู่ฤดูหนาวที่ประชาชนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศและโรคต่างๆที่อาจแพร่ระบาดได้มากขึ้น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม เป็นต้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการบูรณาการกับเครือข่ายในพื้นที่เพื่อจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับให้เพียงพอกับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือน จ.เพชรบูรณ์ที่คาดว่าจะปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้
“ ฤดูหนาวของทุกปีเป็นช่วงที่ประชาชนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเขาหรือยอดดอยมากขึ้น และ จ.เพชรบูรณ์เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จึงได้กำชับให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่เตรียมพร้อมดูแลประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น”นายสันติกล่าว
สำหรับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่าเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ดูแลประชากรในพื้นที่ ประมาณ 54,000 คน ได้เตรียมการตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ โดยมีระบบห้องฉุกเฉินคุณภาพ Smart EMS ที่ได้รับการรับรองเป็นอำเภอที่ดำเนินการป้องกันการบาดเจ็บทางจราจรทางถนน (D-RTI) ระดับดีเยี่ยม (Advance) มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบบริการ พร้อมแพทย์ พยาบาล นักเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบคัดแยกผู้ป่วยทำให้ได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็วตามลำดับความเร่งด่วน และยังมีช่องทางด่วน (Fast Track) ในกลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยมีโรงพยาบาลหล่มสัก และโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เป็นเครือข่ายในระบบส่งรักษาต่อ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างไร้รอยต่อ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 ตุลาคม 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นั่งประธานกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติตั้งคณะกรรมการระดับชาติยกระดับ 30 มาตรการแก้ไขปัญหา PM. 2.5

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นั่งประธานกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติตั้งคณะกรรมการระดับชาติยกระดับ 30 มาตรการแก้ไขปัญหา PM. 2.5

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่สการกระทรวงสาธารณสุข นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567” พร้อมทั้งได้เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ให้เป็นกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร และหมอกควันข้ามแดน มีการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

รมว. ทส. กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 โดยพบว่า สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ดีขึ้น มีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น และอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ เมืองพัทยา และเทศบาลนครมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะสั้น เช่น แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคเกษตร ที่ต้องขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเป็นการเร่งด่วน

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งได้เห็นชอบ (ร่าง) รายงานสถานการณ์ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2566 เพื่อใช้ในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลการประเมินดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (EPI) ของประเทศไทยใน 3 แนวทาง และเห็นชอบ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการ EPI ของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล

“ทส. ได้สนองนโยบายของนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน โดยจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ณ ห้อง 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีรายงานสถานการณ์ประจำวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook live ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมแนวทางการปฏิบัติตัว มีการรายงานสถานการณ์ประจำสัปดาห์ พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการปฏิบัติตัวในช่วงอาทิตย์นั้น พร้อมทั้งจัดให้มีการรายงานกรณีพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ในกรณีสถานการณ์ PM 2.5 เข้าขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีเหตุการณ์ที่สำคัญ” พลตำรวจเอก พัชรวาท กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 ตุลาคม 2566

“รัชนี สส.ร้อยเอ็ด” วอน กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามลำน้ำยัง จุดนายายบุญชู ดวงแก้ว ย่นระยะทางให้ชาวบ้านสัญจรสะดวกขึ้น พร้อมเร่งให้ซ่อมแซมและก่อสร้างถนนลาดยาง 6 เส้นหลัก ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ

,

“รัชนี สส.ร้อยเอ็ด” วอน กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามลำน้ำยัง จุดนายายบุญชู ดวงแก้ว ย่นระยะทางให้ชาวบ้านสัญจรสะดวกขึ้น พร้อมเร่งให้ซ่อมแซมและก่อสร้างถนนลาดยาง 6 เส้นหลัก ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ

นางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าตนได้รับแจ้งจากประชาชนบ้านดงดิบ ตำบลหนองใหญ่อำเภอโพนทอง และบ้านชุมพร อำเภอเมยวดี โดยเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำยัง ได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเข้าหมู่บ้านและเข้าตลาดในตัวอำเภอเป็นไปด้วยความลำบาก ต้องใช้เส้นทางที่มีระยะทางมากเกินไป เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะมีไร่นาและญาติพี่น้องอยู่คนละฝั่งลำน้ำ

นางรัชนี กล่าวต่อว่า หากมีการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำ จุดนายายบุญชู ดวงแก้ว ความกว้างประมาณ 100 เมตร จะทำให้สะดวกในการเดินทาง ย่นระยะทาง กว่า 20 กิโลเมตร และถ้าจะให้การสัญจรไปมาสะดวก ขอให้ก่อสร้างทางลาดยางเชื่อมสองฝั่ง ด้วยระยะทางจากบ้านดงดิบ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง จุดก่อสร้างสะพานประมาณ 1.5 กิโลเมตร และจากจุดก่อสร้างสะพานไปบ้านชุมพร อำเภอเมยวดี ประมาณ 2.3 กิโลเมตร ตนขอให้กรมทางหลวงชนบทให้จัดงบประมาณก่อสร้างลาดยาง และสะพานคอนกรีตข้ามลำน้ำยัง ดังกล่าวด้วย

นางรัชนี กล่าวต่อว่า ตนได้รับแจ้งจากผู้รับบริการสำนักงานที่ดิน สาขาโพนทองว่า มีผู้มารับบริการแต่ละวันจำนวนมาก ทำให้เสียเวลา บางครั้งไม่สามารถให้บริการเสร็จภายในวันเดียว เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งสำนักงานที่ดินสาขาโพนทองนั้นมีพื้นที่รับผิดชอบ 4 อำเภอ คืออำเภอโพนทอง อำเภอหนองพอก อำเภอเมยวดี อำเภอโพธิ์ชัย จากข้อมูลอำเภอโพธิ์ชัยมีพื้นที่ห่างไกลจากอำเภอโพนทอง และที่ดินมากกว่าที่อื่น เพื่อลดปัญหาความแออัดให้กับประชาชน ขอให้ก่อสร้างงบประมาณในการตั้งสำนักงานที่ดินอำเภอโพธิ์ชัย

นอกจากนี้ นางรัชนี ยังกล่าวว่า ตนได้รับแจ้งจากผู้นำท้องที่ท้องถิ่นว่า ประชาชนมีปัญหาในการสัญจรไปมา เนื่องจากสภาพถนนชำรุดเสียหาย เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงขอให้กรมทางหลวงชนบทจัดงบประมาณ ก่อสร้างถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 6 สาย ดังนี้
1. ขอให้ก่อสร้างถนนลาดยางเส้นบ้านกุดแห่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง ไปบ้านหนองโน อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นถนนลูกรังเส้นทางลัด ระยะทาง 7 กิโลเมตร
2. ขอให้ก่อสร้างถนนลาดยางเส้นบ้านดงบัง ม.4 ไปบ้านดงทรายงาม ม.9 ตำบลหนองขุ่นใหญ่ เชื่อมถนนทางหลวงชนบทสายหนองพอก – ตำบลท่าสีดา อำเภอหนองพอก จังหวัตร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
3. ขอให้ก่อสร้างถนนลาดยางเส้นทางจากบ้านคำแข้ ตำบลแวง – บ้านบะเค ตำบลโพธิ์ทอง – บ้านหนองขอนแก่น ตำบลคำนาดี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง 5 กิโลเมตร และขอให้ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำห้วยบง ซึ่งถูกกระแสน้ำพัดชำรุด
4. ขอให้ก่อสร้างถนนลาดยางบ้านสว่างอารมณ์ ตำบลพรมสวรรค์ ถนนเชื่อมอำเภอ โพนทอง – บ้านโพนงาม ตำบลหนองขุ่นใหญ่ อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นถนนลูกรังเส้นทางลัด ระยะทางประมาณ 9.5 กิโลเมตร
5. ขอให้ก่อสร้างถนนลาดยางเส้นบ้านหนองแสงทุ่ง และ บ้านทุ่งแสงทอง ตำบลแวง – บ้านดงดิบ และ บ้านกุดแห่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทองจังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร
6. ขอให้ซ่อมสร้างถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท หมายเลข รอ.4007 เส้นบ้านวังยาว อำเภอโพนทอง – บ้านหนองกุง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบ้านสว่าง ตำบลสว่าง – บ้านคำพระ ตำบลสว่าง อำเภอโพนทอง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และช่วงบ้านพรหมจรรย์ ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง – บ้านสีเสียด ตำบลศรีวิลัย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 26 ตุลาคม 2566

“คอซีย์ สส.ปัตตานี” ขอ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯอนุมัติ เร่งแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ทำ ปชช. กลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีที่ทำกิน

,

“คอซีย์ สส.ปัตตานี” ขอ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯอนุมัติ เร่งแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ทำ ปชช. กลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีที่ทำกิน

นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เขต 2 พรรคพลังพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนที่อยู่ชายฝั่งทะเล ที่มีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบด้วยพื้นที่อำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอปานาเระ อำเภอสายบุรีและอำเภอไม้แก่น จากข้อมูลที่ตนได้รับนายก อบต.ท่ากำชำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในระดับรุนแรง อัตราเฉลี่ยปีละประมาณ 5 เมตร และในอำเภออื่นๆที่เดือดร้อนไม่แพ้กัน

“สภาพปัญหากัดเซาะจะน้ำทะเลทำให้ประชาชนซึ่งเคยมีบ้านเรือนอาศัย วันนี้กลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีที่ทำกิน ผมขอเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปถึงอธิบดีกรมทรัพยากรชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และกรมประมง เพื่อลงไปในพื้นที่ ร่วมวางแผนแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน”นายคอซีย์ กล่าว

นายคอซีย์ กล่าวต่อว่า ปัญหากระเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องเร่งด่วน วันข้างหน้าประชาชนอาจจะไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน จึงเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โปรดลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พร้อมจัดวางงบประมาณเป็นการเร่งด่วน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 26 ตุลาคม 2566

“อัครแสนคีรี” เสนอแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำประปา-บาดาล ไม่พึ่งพิงงบรัฐ ขอเปิดโอกาสเอกชนเข้าลงทุนร่วมกับรัฐ รูปแบบ PPP สร้างรายได้ภาครัฐ และสามารถกำกับดูแลให้โปร่งใส เหมือนรัฐวิสาหกิจ

,

“อัครแสนคีรี” เสนอแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำประปา-บาดาล ไม่พึ่งพิงงบรัฐ ขอเปิดโอกาสเอกชนเข้าลงทุนร่วมกับรัฐ รูปแบบ PPP สร้างรายได้ภาครัฐ และสามารถกำกับดูแลให้โปร่งใส เหมือนรัฐวิสาหกิจ

นายอัครแสนคีรี โลห์วีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาล และปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพต่ำ โดยยกตัวอย่าง สภาพน้ำบาดาลใน จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายหมู่บ้าน ยังไม่มีระบบกรองน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาการควบคุมคุณภาพน้ำ

ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ติดตั้งระบบหอถัง ระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการนำน้ำบาดาลมาใช้เป็นน้ำดื่ม แต่มีอุปสรรค เพราะภารกิจของกรม ผูกพันกับงบประมาณแผ่นดิน ที่แต่ละปีได้รับจัดสรร ประมาณ 2-3 พันล้านบาท เมื่อกรมใช้งบหมดตามแผน ส่งผลให้โครงการใหม่ต้องรอปีงบประมาณถัดไป ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบน้ำบาดาลทั้งประเทศ รวมไปถึงการบริหารจัดการ การจัดเก็บค่าน้ำบาดาลจากชุมชนและเกษตรกร ที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง

ตน จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำ ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือ ขอให้มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับรัฐในรูปแบบ PPP (Public-Private-Partnership) ซึ่งเอกชนกับรัฐ สามารถจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle (SPV) และขายน้ำให้กับชุนชน และเกษตรกร ในอัตราที่เป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาการจัดเก็บค่าน้ำบาดาลสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ และสามารถกำกับดูแลให้โปร่งใส เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้เมื่อต้องการงบประมาณ เข้าลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เอกชน สามารถเรียกเพิ่มทุน ได้เลย ไม่ต้องรอเข้าสู่ปีงบประมาณถัดไปของภาครัฐ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 26 ตุลาคม 2566