โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: กิจกรรมพรรค

ทีม ศก. พลังประชารัฐเสนอนายกฯ เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนเวลานี้

,

ทีม ศก. พลังประชารัฐเสนอนายกฯ เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนเวลานี้

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง “ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย” โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้นเกือบร้อยละ 91 ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าถึง 16.2 ล้านล้านบาท (ณ ไตรมาสที่ 3/2566) สถานการณ์ดังกล่าว กำลังสั่นคลอนความมั่นคงในครอบครัวคนไทย เนื่องจากตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอยเพียงพอ เพราะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว สุดท้ายนอกจากจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นชนวนเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมารอบด้าน

ทั้งนี้ จากการศึกษาภาวะหนี้ครัวเรือนไทย พบว่า สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึงกว่าร้อยละ 76 ประกอบด้วยหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของ ธปท. หนี้เพื่อการศึกษา ส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพและอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียง ร้อยละ 24

ขณะที่ สถิติของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในปี 2566 มีหนี้เสียในระบบถึง 1.05 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 6.6 โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือกลุ่มหนี้สินเชื่อยานยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ในกลุ่มหนี้ที่จับตาเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL สูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17.8 และจากรายงานของกรมบังคับคดี ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาทภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า

เมื่อพิจารณาด้านรายได้ พบว่าภายหลังวิกฤติโควิด-19 ยุติลง ได้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในคนไทยมากขึ้น โดยมีคนมากถึง ร้อยละ 50 ที่ไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาในระดับเดิมก่อนโควิด ในทางกลับกันมีคนเพียงร้อยละ 10 ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่าระดับเดิมก่อนช่วงโควิด

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า ผู้มีรายได้น้อย คือคนที่มีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์และล้มละลายมากที่สุด เนื่องจากกลุ่มรายได้น้อยมีภาระรายจ่ายและภาระหนี้สูงกว่ารายได้ในสัดส่วนสูงที่สุด โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 138.2 ของรายได้ กลุ่มรายได้ 1.5-3 หมื่นบาทต่อเดือนคิดเป็น ร้อยละ 109.4 กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาทเดือนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 104.7

ด้าน นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากรายงานของ IMF ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อGDP ของไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แต่ขีดความสามารถทางการแข่งขันและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น ดังนั้น ไทยจึงมีความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะก่อปัญหาทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วยการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลต้องจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนสถาบันการเงินเอกชนมาร่วมกันแก้ไข

นายอุตตม กล่าวว่า ส่วนมาตรการที่กำหนดขึ้นควรขับเคลื่อนภายใต้ 4 แนวคิด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.ครอบคลุม เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทุกอาชีพด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค 2.ครบวงจร เชื่อมโยงการแก้หนี้เดิมเติมทุนใหม่ พร้อมกับเติมทักษะเพื่อสร้างอาชีพ

3.ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการใช้ AI Data สร้างฐานข้อมูลการจัดการปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคนและชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 4.ขับเคลื่อนขบวนการต่อเนื่อง โดยกำหนดมูลค่าหนี้และกลุ่มเป้าหมายชัดเจน พร้อมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดงบประมาณที่เพียงพอ

“ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่าภาครัฐควรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้หนี้ครัวเรือนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการแก้ไขจะสำเร็จได้จะต้องทำพร้อมกัน 2 ด้าน คือ ทั้งการลดหนี้และสร้างรายได้หรือเม็ดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเพิ่มด้วยจึงจะเป็นการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ” นายอุตตม กล่าว

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการวิชาการกล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาครัฐควรใช้กลไกลบรรษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่จัดตั้งเป็นรูปแบบกองทุนแก้หนี้ภาคครัวเรือน ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้ สามารถออกมาตรการกระตุ้นให้ธนาคารพานิชย์เข้าร่วมช่วยเหลือลูกหนี้ โดยวิธีที่ทำได้คือ กระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกับ ธปท. กำหนดนโยบายลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู (FIDF) ครึ่งหนึ่งให้กับธนาคาร เหลือร้อยละ 0.23 ต่อ 6 เดือนเป็นการชั่วคราว 5 ปี และให้นำเม็ดเงินส่วนที่ลดลงนั้นมาตั้งกองทุนดังกล่าว และธนาคารจะต้องนำเอากำไรสะสมของตนเองเข้าร่วมโครงการด้วยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ด้วย

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ของกองทุน คือ ปรับโครงสร้างหนี้แบบตัดยอดหนี้ (hair cut) ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่รวดเร็วทันกาล และสร้างโอกาสให้ลูกหนี้ตั้งตัวกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดีต่อไป โดยกำหนดใช้กับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลายนั้น ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย ต้องยอมชะลอการยึดหลักประกัน และต้องลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยจะกำหนดกับ ธปท. ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ทั้งนี้ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ เสนอว่าแม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งมาตรการ hair cut จะต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้ากระเป๋าประชาชน ภายใต้ 4 มาตรการ ดังนี้ 1.นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ควรหารือกับ ธปท. เพื่อกระตุ้นการลงทุนเอกชนขยายกำลังผลิตและเพิ่มการจ้างงาน ด้วยการเพิ่มสภาพคล่องเข้าในระบบการเงินและหรือการลดดอกเบี้ย

2. รัฐบาลควรพิจารณาค้ำประกันหนี้ให้ SMEs ที่จะกู้ใหม่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในสัดส่วนสูงเป็นพิเศษชั่วคราว อาจจะถึง 80% ถ้าเป็นโครงการใหม่ที่ธนาคารเห็นว่ามีศักยภาพ และไม่ใช่การกู้หนี้ใหม่ไปเพื่อใช้คืนหนี้เก่า

3. รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเอกชนตั้งใหม่ที่เน้นนวัตกรรมในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยร่วมกับหน่วยงานที่ชำนาญด้านการลงทุน เช่นตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น

4. สร้างรายได้เพิ่มเติมหรือลดค่าใช้จ่ายให้เอกชน เช่น สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแบบ “หักกลบลบหน่วย” โดยธนาคารของรัฐเข้าไปสนับสนุนเงินทุนแก่ครัวเรือน รวมทั้ง อบต. เทศบาล เพื่อจัดทำโซลาร์ฟาร์ม และถ้าหากมีที่ราชพัสดุอยู่ใกล้ชุมชน ก็ควรพิจารณาให้ชุมชนเช่าใช้ในการทำโซลาร์ฟาร์มด้วย เป็นต้น

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/3282710/
วันที่: 24 มีนาคม 2567

พปชร. เดินหน้าเสนอร่างพรบ.ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต เข้าสภาฯ

,

พปชร. เตรียม ยื่นร่าง พ.ร.บ.ลดก๊าซเรือนกระจกฯ เข้าสภาฯ หวัง ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์-ทิศทางให้อำนาจหน่วยงานรัฐ เข้าจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุเป้า Carbon Net Zero

21 มี.ค. 2567 – ที่รัฐสภา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตพ.ศ. … ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมทุกภาคส่วน มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตต่อสภาผู้แทนราษฎร

โดย ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายในการยกร่าง ซึ่งการดำเนินการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าพรรคให้ความสำคัญ เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดูแลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว สอดรับกับทิศทางของนานาชาติ

“การแก้ไขปัญหาการจัดการก๊าซเรือนกระจกในขณะนี้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องการความร่วมมือ และแนวทางที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ และทิศทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีความห่วงใยในเรื่องการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศของไทยที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพราะส่งต่อกระทบต่อประชาชน โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายในวงกว้างในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านสุขอนามัย และการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนโดยตรง ที่นับวันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น“ นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าและตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังไม่มีเครื่องมือในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาะ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลการดำเนินงาน และให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศแบบครบวงจร รวมถึงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่เร่งให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริงที่ชัดเจนต่อไป

ด้านนายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพื่อให้ควบคู่ไปกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ พรรคพลังประรัฐ เราต้องการที่จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่มากขึ้น มีอากาศที่บริสุทธิ์ และฟื้นเศรษฐกิจให้เทียบเท่ากันกับนานาชาติ

ด้านนายนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการพูดถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบสหภาพยุโรป และอเมริกา ได้ใช้มาตรการ CBAM ในการจำกัดและควบคุมการนำเข้าสินค้า ที่ผลิตโดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หากสินค้าไทยจะส่งออกไปยังต่างประเทศ เราจำเป็นต้องมีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ เพื่อลดผลกระทบในการส่งสินค้าไทยออกนอกประเทศ

ที่มา: https://www.thaipost.net/general-news/556418
วันที่: 24 มีนาคม 2567

‘บิ๊กป้อม’ ถือฤกษ์ดี 07.29 น. บวงสรวงท้าวมหาพรหมที่ทำการพรรค พปชร.

,

“บิ๊กป้อม” ถือฤกษ์ดี 07.29 น. บวงสรวงท้าวมหาพรหมที่ทำการพรรค พปชร. เสริมสิริมงคล นำความเจริญรุ่งเรืองสู่พรรค “อนุรักษนิยมทันสมัย”

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 67 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประะวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหม ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าอาคารที่ทำการพรรค พปชร. เพื่อเสริมสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สมาชิก พรรค บุคลากร พนักงาน ทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคสู่การเป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคง ด้วยจุดยืนของการเป็นพรรค “อนุรักษนิยมทันสมัย” ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชน โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรค พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ นายทะเบียนพรรค นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรค และ สส. เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ถือฤกษ์ เวลา 07.29 น. เริ่มพิธีบวงสรวงท้าวมหาพรหม ลงไม้ศักดิ์สิทธิ์ ถวายพวงมาลัย จุดธูปและเทียน ปักธูปที่เครื่องสังเวย ตอกเครื่องมงคลที่ฐาน โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ หลังจากนั้น เริ่มพิธีอัญเชิญท้าวมหาพรหม สถิตบนศาล และภายในประดิษฐานประกอบด้วย องค์ท้าวมหาพรหม 4 พระพักตร์ 8 กร โดยท้าวมหาพรหมถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดในคติของศาสนาฮินดู เป็นเทพเจ้าแห่งความสร้างสรรค์ ความเมตตา เป็นพระผู้สร้างโลก และให้กำเนิดสิ่งต่างๆ พร้อมประทานพรให้กับทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มีนาคม 2567

“ส.ส.ปริญญา ฤกษ์หร่าย” งานวันกีฬาแห่งชาติ ปี 2566 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและร่วมสัมมนา ทิศทางกีฬาไทย ณ อาคารรัฐสภา

, ,

“ส.ส.ปริญญา ฤกษ์หร่าย” งานวันกีฬาแห่งชาติ ปี 2566 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและร่วมสัมมนา ทิศทางกีฬาไทย ณ อาคารรัฐสภา

18 ธค 2566 นายปริญญา ฤกษ์หร่าย สมาชิกสภาผู้แทยราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกีฬาชุดที่ 26 พร้อมด้วยที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ นายพรรษศรณ์ สาครเสถียร ร่วมงาน ทิศทางกีฬาไทย
ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 ธค 66 ณ.กิจกรรมชั้น B1 อาคาร รัฐสภา เพื่อสร้างโอกาสทางกีฬาให้กับเยาวชน และผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้มีการมอบเกียรติบัตร แก่ ผู้ที่มีส่วน ร่วมสนับสนุนงานของ คณะกรรมาธิการกีฬา วุฒิสภาด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 ธันวาคม 2566

“พล.อ.ประวิตร -รมว.ธรรมนัส” ห่วงใยพี่น้องชาวใต้เผชิญอุทกภัย ส่งทีมสส.พปชร.นราธิวาส รุดเข้าช่วยเหลือปชช. 3 จ.ชายแดนใต้

,

“พล.อ.ประวิตร -รมว.ธรรมนัส” ห่วงใยพี่น้องชาวใต้เผชิญอุทกภัย
ส่งทีมสส.พปชร.นราธิวาส รุดเข้าช่วยเหลือปชช. 3 จ.ชายแดนใต้

17 ธ.ค. 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ติดตามสถานการณ์พายุฝน เข้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีความห่วงใยในสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะจ.ยะลา และจ. นราธิวาส จ.สงขลา และปัตตานี โดยได้ประสานงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ เลขาธิการพรรค นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.เขต 3 จ.นราธิวาส นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.เขต 2 จ.นราธิวาส เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมติดตามสถานการณ์และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือ ผ่านทีมงานสส.ในพื้นที่พปชร.อย่างต่อเนื่อง

โดยในวันนี้ สส.สัมพันธ์ และสส.อามินทร์ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปีนี้ พายุฝนตกชุกเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในวันนี้ ก็เตรียมระดมทีมเจ้าหน้าที่ ส่งถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับพี่น้องประชาชนในจ.นราธิวาส พร้อมสอบถามปัญหาความเดือดร้อน เพื่อนำไปสู่การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 17 ธันวาคม 2566

“โฆษก พปชร.” เผยพล.อ.ประวิตร เร่งสส.พร้อมให้ความรู้ ปชช. แปลงเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินทำกิน เพื่อการเกษตร

,

“โฆษก พปชร.” เผยพล.อ.ประวิตร เร่งสส.พร้อมให้ความรู้ ปชช. แปลงเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินทำกิน เพื่อการเกษตร

วันนี้ (12 ธ.ค.) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ฉะเชิงเทรา เขต 3 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธานประชุม ซึ่งประเด็นการหารือครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อม การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เนื่องจากมีพ.ร.บ.สำคัญหลายฉบับรอเข้าสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆที่พรรค พร้อมร่วมแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ได้กินดีอยู่ดี ทั้งในเรื่องการรณรงค์ให้ความรู้กับเกษตรกรในการดำเนินการของแปลงเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด เพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะมีการมอบเอกสารสิทธิ์ที่จะมีผลในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เป็นนโยบายที่พรรค ผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่มีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในเรื่องการยื่นญัตติด่วน เรื่องของนิรโทษกรรม พรรคพร้อมพิจารณาความเหมาะสม หากมีโอกาส พรรค ก็ขอยื่นญัตติ เพื่อนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ของกรรมาธิการ เพื่อให้เป็นเวทีทุกฝ่าย ได้แสดงเหตุผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ใช้กระบวนการของรัฐสภา เป็นฝ่ายดำเนินการ เพราะเป็นพื้นที่สำหรับทุกฝ่าย ในการหาทางออกให้ดีที่สุด

“สำหรับการพิจารณางบประมาณประจำปี 2567 จากที่มีกระแสข่าว ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะขอเลื่อนเรื่องนี้ออกไป เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่พร้อมนั้น เรื่องดังกล่าว เห็นว่าคงต้องดูภาพรวมของรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีความพร้อมเมื่อไร ซึ่งสส.ในสภา ก็พร้อมพิจารณา เพราะเราต้องการเดินหน้าให้เร็วที่สุด เนื่องจาก พรบ. ผ่านสภา เร็วเท่าไหร่ ก็จะส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชน ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เร็วยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังได้รับทราบ ประเด็นของ นายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตสมาชิกพรรค พปชร. ซึ่งได้ลาออก และหมดสมาชิกภาพไปแล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับพรรค

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 ธันวาคม 2566

“รมช.สันติ-โฆษกพปชร.” นำสส.พปชร. ร่วมวางพานพุ่มถวาย ร.7 เนื่องใน “วันรัฐธรรมนูญ” ประจำปี 66

,

“รมช.สันติ-โฆษกพปชร.” นำสส.พปชร. ร่วมวางพานพุ่มถวาย ร.7 เนื่องใน “วันรัฐธรรมนูญ” ประจำปี 66

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 จ.ฉะเชิงเทรา โฆษกพรรคพปชร. เป็นตัวแทนพรรค พปชร. พร้อมด้วย สส. พปชร. ร่วมพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมฯ เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี บริเวณพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ในช่วงเช้าได้ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา , ประธานศาลฎีกา ,เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ,ข้าราชการ และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ นำพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมฯ เบื้องหน้าพระรูปต้นแบบฯ

ทั้งนี้ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 ธันวาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส“ เปิดปฏิบัติการ”พญานาคราช” ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รักษาประโยชน์เกษตรกรไทย

,

“รมว.ธรรมนัส“ เปิดปฏิบัติการ”พญานาคราช” ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รักษาประโยชน์เกษตรกรไทย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดงานดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจัดขึ้น เพื่อประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยภายในงานมีการมอบธงและปล่อยขบวนชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ได้แก่ พญานาคราช (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ฉลามขาว (กรมประมง) พญาไท (กรมปศุสัตว์) สารวัตรเกษตร (กรมวิชาการเกษตร) ออกปฏิบัติการฯ พร้อมเปิดทุกกระบวนการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมง ตั้งแต่การ X-Ray ตู้สินค้าประมงนำเข้าเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบสินค้าภายในตู้ และการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้า ตลอดจนนำเสนอนิทรรศการกระบวนการตรวจสินค้าเกษตรนำเข้า (พืช ประมง ปศุสัตว์) ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง
“ต่อจากนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” จะดำเนินการตรวจสอบสินค้าภาคการเกษตรทุกประเภทที่นำเข้าสู่ราชอาณาจักรแบบผิดกฎหมาย ที่ไม่ผ่านขั้นตอนของศุลกากร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร โดยจะใช้ชุดปฏิบัติการนี้ในการป้องกัน ปราบปราม ตรวจยึด และดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายผมและท่านไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งจะเห็นการปราบปรามอย่างจริงจังภายใต้การทำงานของทั้ง 4 หน่วยงาน ที่สามารถเข้าตรวจค้นได้ทุกที่โดยไม่ต้องขอหมายศาล” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (พญานาคราช) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร จำนวนกว่า 70 นาย เพื่อร่วมบูรณาการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการในการขับเคลื่อนการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยชุดปฏิบัติการพญานาคราช ภายใต้การกำกับดูแลและขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เสริมทัพความเข้มแข็งให้กับชุดปฏิบัติการพิเศษ (เดิม) ของกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และต้องมีการรายงานผลการทำงานให้รัฐมนตรีฯ ทราบทุก 15 วัน

สำหรับในปี 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตประมงที่ได้จากการจับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงทั้งหมด 2.39 ล้านตัน และมีการนำเข้าสินค้าประมงปริมาณ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 158,431 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณ 808,539 ตัน ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 727,709 ตัน หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 182,049 ตัน เพื่อบริโภคภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าประมงรวม 1.60 ล้านตัน มูลค่า 229,123 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง 76,633 ล้านบาท กุ้งและผลิตภัณฑ์ 52,623 ล้านบาท อาหารแมวและสุนัขกระป๋อง 18,063 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจสินค้า พบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 คดีในปี 2565 และพบการกระทำผิด 9 คดี ในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 66) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทุกหน่วยงานพร้อมยกระดับการปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรอย่างเข้มแข็ง โดยในส่วนของสินค้าประมงได้สั่งการให้ทุกด่านตรวจประมงเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด เปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศเสี่ยงสูง 100 % (จากเดิมจะเปิดตรวจ 30%) โดยได้กำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ (1) การเปิดตรวจ ณ ด่าน หรือ ท่าเทียบเรือ และ (2) การตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) ด้วยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อควบคุมและตรวจสอบคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้าจริงตรงตามที่สำแดงในเอกสารจนมั่นใจว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิตหรือจำหน่ายต่อไป รวมถึงจะมีการบูรณาการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ปปง. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำสินค้าทุกชนิดเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย กรมประมงจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงสถานที่เก็บรักษา กรมประมงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการห้องเย็นเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ยังไม่ได้แจ้งการประกอบกิจการต่อกรมประมง ให้มาแจ้งต่อกรมประมง ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือประมงอำเภอในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดขอความร่วมมือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมประมง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 ธันวาคม 2566

สันติ รมช.สธ.หนุนศักยภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผุดไอเดียสร้างเมืองสมุนไพรสร้างรายได้ Soft Power สู่ท้องถิ่น

สันติ รมช.สธ.หนุนศักยภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผุดไอเดียสร้างเมืองสมุนไพรสร้างรายได้ Soft Power สู่ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อสารนโยบายมุ่งเน้น และการมอบนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมอบใบประกาศให้กับผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี

นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับ 30 บาท เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการแก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายมุ่งเน้น 13 ประเด็น เกี่ยวข้องกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 6 ประเด็น ได้แก่ โครงการพระราชดำริ สุขภาพจิต/ยาเสพติด การแพทย์ปฐมภูมิ สถานชีวาภิบาล ดิจิทัลสุขภาพ และเศรษฐกิจสุขภาพ โดยประเทศไทยมีความโดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว จึงส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพเห็นได้จากช่วงสถานการณ์โควิด 19 คนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย และสมุนไพรมากขึ้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ เช่น ส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพ

“การนวดแผนไทย ถือเป็นการนวดเพื่อบำบัดโรคต่างๆ ทั้งการนวดคลายเส้น นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และยังมีส่วนสร้างงานสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการนวดแผนไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และแต่ละประเทศก็ต้องการแรงงานนวดแผนไทยจำนวนมาก ขณะที่เรื่องสมุนไพร ส่วนใหญ่เป็นอาหารไทยเพื่อสุขภาพ อาหารเป็นยาของไทยเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงทานแล้ว สามารถที่จะเป็นยาในชีวิตประจำวันได้ด้วย อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities” นายสันติ กล่าว

การนวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ และผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ทั้งในภาครัฐและเอกชน อาหารไทย เป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารสูงถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 และในเดือนธันวาคม 2566 นี้ กำลังจะมีงาน Kick off มหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพที่จังหวัดเพชรบูรณ์

นายสันติ กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ สมุนไพรไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ประกาศ “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีการวางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ กลุ่มที่ 2 คือ สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ กระชาย มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต ในการขับเคลื่อนพัฒนา

ทั้งนี้มีแนวคิดที่จะเข้าไปพัฒนาเป็นเมืองสมุนไพร ในพื้นที่ชนบท ขเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมเพาะปลูกพืชสมุนไพร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน หลายจังหวัดได้มีการพัฒนาต่อยอดพืช/สมุนไพร ให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้และกระจายสู่ภูมิภาคแต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุน ปกป้อง คุ้มครอง ภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย ให้คงอยู่อย่างทรงคุณค่าและยั่งยืน นำมาต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน”

นายสันติ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีความตั้งใจ ที่จะสนับสนุนให้สมุนไพร ทั้งพืชสมุนไพรที่ค้นพบแล้ว และที่ยังไม่ได้ค้นพบ ในแต่ละชนิดที่มีจำนวนอีกมากนำมาวิจัยเพื่อใช้ในการรักษาโรค นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะให้กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมกับวัดโพธิ์ จัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยเปิดสอนการนวด เพื่อสุขภาพเมื่อเรียนจบก็จะได้รับใบประกาศและการรับรอง ก็จะเกิดความน่าเชื่อถือทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้รักษาบริการ สิ่งเหล่านี้จะเป็น Soft Power ที่มีความสำคัญ หากไปต่างประเทศก็จะมีรายได้เดือนละแสน ก็เป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2566

“พล.อ.ประวิตร” ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ใช้กระทงน้ำแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมอวยพรขอให้คนไทยพบแต่สิ่งดี ๆ ส่งโรคภัยไข้เจ็บ ลอยไปกับสายน้ำ

,

“พล.อ.ประวิตร” ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ใช้กระทงน้ำแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมอวยพรขอให้คนไทยพบแต่สิ่งดี ๆ ส่งโรคภัยไข้เจ็บ ลอยไปกับสายน้ำ

เมื่อ เวลา 17.45 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)นำกรรมการบริหารพรรค อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค นายอภิชัย เตชะอุบล กรรมการบริหารพรรค และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ประธานกรรมการด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมถึงสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมสืบสานประเพณีไทยในแบบรักษ์โลก โดยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมลอยกระทง “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย 1 ครอบครัว 1 กระทง” ณ บริเวณบึงน้ำใน มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ5 จังหวัด

โดยภายหลังจากลอยกระทงเสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่า เทศกาลลอยกระทงของไทย เป็นประเพณีที่ สืบสาน และส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ก็ขอทุกฝ่ายสนับสนุนการจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงให้เหมาะสม ทั้งนี้ ตนขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนพานพบแต่สิ่งดี ๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บลอยไปกับสายน้ำ และมีความสุขสมหวังตามที่ทุกคนขอพรไว้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 พฤศจิกายน 2566

ชาวบ้านนครพนมแห่ต้อนรับ“พล.อ.ประวิตร“ แน่นวัดโฆสมังคลาราม ร่วมกฐินฯสืบสานพุทธศาสนาให้ยั่งยืน

,

ชาวบ้านนครพนมแห่ต้อนรับ“พล.อ.ประวิตร“ แน่นวัดโฆสมังคลาราม ร่วมกฐินฯสืบสานพุทธศาสนาให้ยั่งยืน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดโฆสมังคลาราม บ้านโคกสว่าง ต.โคกสว่าง อ.ปลาปาก จ.นครพนม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อสมทบทุนจัดหาสิ่งของพัฒนาวัด และปรับปรุงพระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.จังหวัดสระแก้ว และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายวิรัช รัตนเศรษฐ ,พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา,พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ,นางรัชนี พลซื่อ ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด,น.ส.กาญจนา จังหวะ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยคณะพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ร่วมทำบุญทอดถวายกฐินสามัคคีประจำปี ในโอกาสนี้ มากกว่าปีที่ผ่านมา

ภายหลังเสร็จพิธีทอดกฐิน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นประธานเปิดศาลาอเนกประสงค์บริเวณหน้าพระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม พร้อมทั้งถวายผ้าห่มพระประธานและสักการะพระประธานในพระมหาธาตุเจดีย์ฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรฯ ได้ทักทายประชาชน สาธุชน ที่มา ร่วมทำบุญในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ท่ามกลางบรรยากาศให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง และอบอุ่น ในปีนี้นับเป็นปีที่ 9 ที่ได้ทำบุญทอดถวายกฐินมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง พล.อ.ประวิตรฯ ยังได้มีความศรัทธาต่อองค์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเคยมาปฏิบัติธรรม ณ วัดแห่งนี้ด้วย ในสมัยที่ พล.อ.ประวิตรฯ เดินทางมาปฏิบัติราชการ เมื่อหลายปีก่อน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 พฤศจิกายน 2566

“พล.อ.ประวิตร”รับหนังสือเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรี เผย พปชร.พร้อม สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติ

,

“พล.อ.ประวิตร”รับหนังสือเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรี เผย พปชร.พร้อม สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รับหนังสือข้อเสนอประเด็นจริยธรรมทางเพศ จากมูลนิธิเพื่อนหญิงและภาคีเครือข่ายกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิสตรี เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) จาก ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ ตัวแทนพรรคฯ ซึ่งไปร่วมงานเสวนาทางวิชาการเรื่องผู้หญิงส่งเสียงถามหาจริยธรรมทางเพศของพรรคการเมือง โดยทางเครือข่ายเพื่อนหญิงได้มีการส่งข้อเสนอผ่านตัวแทนไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค เพื่อนำมาเป็นนโยบายสำหรับการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร สส. นอกจากตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแล้ว ต้องมีการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมทางเพศด้วย

อีกทั้งวาระนี้พรรคพลังประชารัฐได้ส่งตัวแทนไปร่วมเสวนาเรื่อง “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จากผู้มีอำนาจทางการเมือง” โดย ดร.บุณณดา กล่าวถึงงานเสวนาว่า วัตถุประสงค์ของการระดมความคิดนี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงยังคงถูกกระทำ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นแต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงอีกจำนวนมากยังคงถูกทำร้ายคุกคามทั้งในเรื่องเพศ และเรื่องจิตใจ โดยปัญหาสำคัญคือความไม่เสมอภาคเชิงอำนาจที่แตกต่างกันโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ามักใช้ความได้เปรียบในการคุกคามต่อผู้หญิง หรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ทั้งนี้ในวงเสวนาได้มีการตั้งประเด็นถึงกรณีการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นโดยนักการเมือง แต่พรรคการเมืองต้นสังกัดกลับได้นำข้อมูลการตรวจสอบที่ควรจะเป็นความลับมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนผู้กระทำผิดกลับไม่ได้มีมาตรการลงโทษที่จริงจัง เพียงแค่ตัดเรื่องจบ ผู้กระทำผิดยังคงได้ไปต่อ ในขณะที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือทางจิตใจจากการที่ข้อมูลการเสียหายได้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว

“ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ตั้งแต้ต้น ผู้แทนของพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้แทนที่ใกล้ชิด เข้าใจ และให้เกียรติพี่น้องประชาชน ปัญหาดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นกับพรรคของเรา โดย
ทางหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้กำชับเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายด้านการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติเช่นกัน”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 พฤศจิกายน 2566