โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“รมว.ตรีนุช” ย้ำ ศธ.ต้องเป็นแบบอย่างการสร้างวัฒนธรรมสุจริต ละอายต่อการกระทำผิด ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต

“รมว.ตรีนุช” ย้ำ ศธ.ต้องเป็นแบบอย่างการสร้างวัฒนธรรมสุจริต ละอายต่อการกระทำผิด ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต

ศธ. จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566 “ตรีนุช” ย้ำ ศธ. ต้องเป็นกระทรวงแบบอย่างการสร้างวัฒนธรรมสุจริต มีความละอายต่อการกระทำผิด ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เพิกเฉย ให้บุคลากรทุกระดับ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงและข้อครหาจากการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ทุกเทศกาลหรือวันสำคัญ สามารถแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วยคำอวยพร การทำจิตอาสา แทนการให้ของขวัญ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมคุรุสภา / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน และพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต และมอบนโยบาย No Gift Policy ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต (MOE TRUST & Zero Tolerance)” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

รมว.ศธ. กล่าวว่า ด้วยองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล” ซึ่งนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ผ่านการจัดงาน เนื่องในวันดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต (MOE TRUST & Zero Tolerance)” เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงพลังความร่วมมือและเจตนารมณ์ร่วมกันของคนไทยในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา การอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อการเอื้อประโยชน์และการขาดจิตสำนึกในการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สร้างความยุ่งยากและซับซ้อนในการพิจารณา ตรวจสอบ และตัดสินว่าการกระทำใดเป็นการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปเป็นจำนวนมาก

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ “การแก้ไขปัญหาการทุจริต” เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความรัดกุม ครอบคลุมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบ ก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์ ผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในด้านวินัยและอาญาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผ่านระบบการทำงานภาครัฐที่มีคุณธรรม และความโปร่งใส อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการผลิตต้นทุนมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องเป็นแบบอย่างของการสร้างวัฒนธรรมสุจริตที่จะหล่อหลอมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน มีความละอายต่อการกระทำผิด ไม่ทน และเพิกเฉย และไม่ยอมให้ผู้อื่นกระทำการทุจริต อันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม

เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการป้องกันการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และข้อครหาที่อาจเกิดขึ้น ในเทศกาล หรือวันสำคัญต่าง ๆ บุคลากรทุกระดับในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สามารถแสดงความปรารถนาดีต่อกันได้ด้วยการอวยพรผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการทำจิตอาสาแทนการให้ของขวัญ เพื่อรักษาไมตรีและมิตรภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงความมุ่งมั่นตามนโยบายของรัฐบาลในการบริหารประเทศ

“ดิฉันขอเชิญชวนพี่น้องชาวกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ที่จะมุ่งมั่นประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อสร้างสังคมไทยให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชันตลอดไป”

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีส่วนราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integtity and Transparency Assessment : OIT) ประจำปีงบประมาณ 2565 ในระดับ AA จำนวน 30 หน่วยงาน และระดับ A จำนวน 31 หน่วยงาน เข้ารับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 8 ธันวาคม 2565

" ,