“พล.อ.ประวิตร”โชว์แผนงานบริหารจัดการน้ำปี’63-64 เพิ่มแหล่งน้ำกว่า2.6หมื่นแห่งดูแลปชช3.4ล้านครัวเรือน
พล.อ.ประวิตร โชว์ผลงานจัดการน้ำ 2 ปี เพิ่มแหล่งน้ำ 26,902 แห่ง ปชช.ได้ประโยชน์ 3.4 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 7.5 ล้านไร่ มุ่งแก้ปัญหาภัยแล้ง ป้องกันอุทกภัย ส่งเสริมอาชีพเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจด้านทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่เชื่อมโยงกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนจังหวัดและแผนชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านได้ถึง 4,973 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำผิวดินสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,189 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 32,005 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 27,364 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน 14 แห่ง และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ถึง 156,070 ไร่ ขณะที่การปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้แหล่งน้ำได้ 314 ล้าน ลบ.ม. (ปี 64 – ปัจจุบัน)
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของรัฐบาล และนโยบายของ พปชร. ได้ร่วมผลักดันการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพราะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยในช่วงปี 2563-2564 ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงการเกษตร ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 26,902 แห่ง เป็นการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการขาดแคลนแหล่งน้ำที่เพียงพอการส่งเสริมอาชีพการเกษตร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของคนส่วนใหญ่ ให้สามารถเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืน ผ่านกลไกการบริหารราชการรวมถึง การบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งส.ส. พรรคพลังประชารัฐ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. ) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบันโครงการ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด สามารถเก็บกักน้ำฝนใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้งได้ 738.3 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 7.5 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3.4 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6,120 แห่ง ภาคกลาง 4,694 แห่ง ภาคตะวันออก 1,469 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,978 แห่ง และภาคใต้ 2,641 แห่ง ขณะเดียวกันยังเกิดการจ้างแรงงานถึง 184,000 ราย ซึ่งเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกันยังได้ให้ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐลงพื้นที่สำรวจปัญหา และความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
วันที่: 29 กรกฎาคม 2565