โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“รมช.สันติ” หนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การจราจร เพิ่มประสิทธิภาพช่วยเหลือปชช.ทั่วถึง

“รมช.สันติ” หนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การจราจร เพิ่มประสิทธิภาพช่วยเหลือปชช.ทั่วถึง
นำเทคโนโลยีพัฒนาระบบ ยกระดับด้านความปลอดภัยลดการสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สินบนท้องถนนทุกเส้นทาง

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2566 สมาคมเวชศาสตร์การจราจร หัวข้อ “ภาพใหม่เชิงระบบสู่งานเวชศาสตร์การจราจร เทคโนโลยี การจัดการ และเวชปฏิบัติ” (New Ecology of Traffic Medicine: Technology, Management & Clinical practice) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะงานเวชศาสตร์การจราจร ทั้งด้านเทคโนโลยียานยนต์และการขนส่ง รูปแบบการจัดการจราจรยุคใหม่ นวัตกรรมด้านความปลอดภัย วิทยาการทางการแพทย์ด้านการป้องกันและการรักษาเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรของประเทศไทย โดยมี นพ.อำนวย กาจีนะ นายกสมาคมเวชศาสตร์การจราจร กรรมการบริหารสมาคม คณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี

นายสันติ กล่าวว่า เวชศาสตร์การจราจรเป็นวิทยาการทางการแพทย์เน้นการศึกษาวิเคราะห์ ระบบการป้องกันความเสี่ยงภัยจากความปลอดภัยทางการจราจรและการตรวจประเมินสมรรถนะทางร่างกาย เพื่อวินิจฉัยโรคและภาวะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการขับขี่ยานยนต์ ก่อนให้การรับรองทางการแพทย์หรือให้คำแนะนำ เพื่อการรักษาหรือป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นแขนงความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่ท้าทายการพัฒนาให้เท่าทันกับยุคสมัยที่ระบบการจราจรมีปริมาณและความชับซ้อนมากขึ้น ตามความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม การมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การจราจรที่มีความรู้ความสามารถ และมีจำนวนที่เพียงพอทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่จะมีส่วนสำคัญต่อการลดปัญหาการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการจราจรได้

“การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร สร้างความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประเทศเป็นอย่างมาก จากการศึกษาของ TDRI ในปี 2562 พบว่า มีมูลค่าความสูญเสียรวม 642,743 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของ GDP และในปีเดียวกันนี้ พบว่า มูลค่าความเสียหายต่อรายกรณีเสียชีวิต มีมูลค่าสูงได้ถึง 6.7ล้านบาทต่อราย และกรณีบาดเจ็บ 2 ล้านบาทต่อราย เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ป้องกันได้ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราการตายจากการจราจรทั้งโลกอยู่ที่ 15 ต่อแสนประชากร โดยประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจราจร 25 ต่อแสนประชากร สูงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก แต่ถ้านับจากผู้เสียชีวิตที่มีจำนวน 18,218 คน จะอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งดีขึ้นกว่าสถานการณ์ในรายงานฉบับก่อนหน้านี้”

“กระทรวงสาธารสุขเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การจราจรปฏิบัติงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของระบบการฝึกอบรม และการสนับสนุนให้มีจำนวนสถาบันฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทั่วประเทศ หรือทุกหน่วยงาน ทั้งจราจรทางหลวง ทางด่วน ทางหลวงชนบท เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและรวดเร็ว ที่สำคัญยังเป็นการป้องกันไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุน้อยลง”

นายสันติ กล่าวอีกว่า หากมีการอบรมบุคลากรในชนบท ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง ให้มีความพร้อมทางเวชศาสตร์การจราจรก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะแนวคิดที่งานเวชศาสตร์การจราจรกระจายตัวไปยังภูมิภาคต่าง ก็จะเป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับนักท่องเที่ยวได้ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุยังมีการเตรียมความพร้อม ความรวมเร็วในการรักษาชีวิตไว้ได้ เพราะการท่องเที่ยวต้องอาศัยการเดินทางเป็นหลัก

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 ธันวาคม 2566

" ,