โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 29 พฤศจิกายน 2024

ธีระชัย-หม่อม กร ชี้ MOU ปี 2544 โมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน

,

ธีระชัย-หม่อม กร ชี้ MOU ปี 2544 โมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน

(วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ) พรรคพลังประชารัฐ – นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าแถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และ นายฮุน เซนนั้น มีข้อความรับรอง MOU จึงทำให้ MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ นอกจากนี้ ยังมีเอกสารวิชาการที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยยืนยันว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอีกด้วย

นายธีระชัยเห็นว่า MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทยตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา และไม่ได้ทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

นายธีระชัยกล่าวว่าประชาชนสงสัยมีข้อพิรุธสำคัญ ทำไมรัฐบาลในปี 2544 จึงทำขั้นตอนกลับทางจากกรณี ไทย-มาเลเซียที่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นผลสุดท้ายจากการเจรจา แต่ MOU กลับไปให้กำเนิดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตั้งแต่ต้นอันเป็นกรอบที่บีบการเจรจา ทั้งที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน ประชาชนจึงกังวลว่า MOU ที่ไม่เจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น

นอกจากนี้ น่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว

“ผมเองเคารพต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเห็นว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ โดยถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ถูกต้อง ก็ควรเร่งให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศชี้แจงเหตุผลในทุกด้านให้ประชาชนคลายใจ เพราะประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านยกขึ้นล้วนเป็นการอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สามารถถกแถลงกันให้กระจ่างได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเร่งให้มีการแก้ไข” นายธีระชัยกล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ได้กล่าวถึงกรณี ที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรยายเรื่อง MOU 44 เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2567 นั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่มากถึงสาเหตุของการเกิดพื้นที่ทับซ้อน ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า “เนื่องจากกฎหมายทะเลสากลให้ทุกประเทศประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เมื่อไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกัน”

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ชี้ว่า ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์ เซ็นต์ MOU 44 กับกัมพูชานั้น  น่าจะเข้าใจกฎหมายทะเลสากลไม่ถูกต้องทั้ง เรื่องทะเลอาณาเขต และการลากเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ปรากฎตาม อนุสัญญาเจนีวา 1958 ข้อ 12 และอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 (UNCLOS3) ข้อ 15 ที่บัญญัติว่า “กรณีที่ฝั่งทะเลสองรัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาเลยเลยเส้นมัธยะ“

กรณีไทย-กัมพูชา เส้นมัธยะ คือ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นจากหลักเขตที่ 73 สุดแดนจังหวัดตราดลากลงทะเล “แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับ เกาะกง” เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ

ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากต่อออกไปจากเส้นมัธยะนี้ มิใช่ดังที่ ดร.สุรเกียรติ์ อธิบายทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200 ไมล์ ตามอำเภอใจแบบกัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อนตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูดซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก

นอกจากนี้ ท่านยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย พม่า และเวียตนาม ที่ประสบผลสำเร็จมีลำดับขั้นตอนดังนี้
1)คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน
2)กรอบการเจรจา คือ กฎหมายทะเลสากล
3)ทำ MOU เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา
4)ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา

ทุกกรณีจะใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทั้งสิ้น (ตามที่ ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนการเจรจากรณี ไทย-มาเลเซีย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง)  ส่วน MOU จะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ

การเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียม กรณีของไทย มาเลเซีย การพัฒนาร่วมเกิดขึ้นจากการเจรจาจนเหลือพื้นที่เล็กที่สุดแล้วยังตกลงไม่ได้ เรื่องเกาะโลซิน ทางมาเลเซียเห็นว่า มีบ่อน้ำมันอยู่ตรงกลางหากแบ่งพื้นที่คนละครึ่งจะมีปัญหาแย่งกันสูบน้ำมันจึงเสนอการพัฒนาร่วมกัน

กรณี ไทย กัมพูชา จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่า เกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิด MOU ขึ้นก่อน แล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบการเจรจา และอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของ MOU ว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงข้อดีของ MOU 44 ผมขอโต้แย้งดังนี้
1. เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเคยมีการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2538 ไทยยึดกรอบกฎหมายสากลทางทะเลในการเจรจา กัมพูชาไม่ยอมปฏิบัติตามกฏหมายสากลจึงเจรจาไม่ได้ หากไทยอ่อนข้อให้กัมพูชาละเมิดกฎหมาย ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ

2. ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่าเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนที่ทับซ้อนกันอยู่เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้อันตราย เพราะกัมพูชาจะยอมเจรจาเส้นเขตแดน 11 องศาเหนือบริเวณเกาะกูดทั้งที่ตามกฎหมายทะเลเป็นของไทยอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือ ก็ขุดปิโตรเลียมไปพร้อมกัน แบ่งเงินค่าภาคหลวงกันคนละคนละครึ่ง หากทำเช่นนี้เมื่อใด ก็ตกลงหลุมพรางทันที กัมพูชาจะเอาหลักฐานการแบ่งค่าภาคหลวงซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นศาลโลกและแบ่งพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือครึ่งหนึ่ง เรียกว่าเสียทั้งปิโตรเลียมเสียทั้งดินแดนไปพร้อมกันแบบ Indivisible Package เรียบร้อยโรงเรียนกัมพูชา!!!

3.  ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้ เสียเหลี่ยมให้กัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้นนำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนำมาลงนามในแถลงการณ์ร่วม ก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้เช่นกัน

ส่วนประเด็นที่ ดร.สุรเกียรติ์ ตั้งคำถามว่า หากยกเลิก MOU 44 แล้วจะได้ความตกลงที่ดีกว่านี้หรือไม่ ขอตอบว่ามี คือใช้กฎหมายสากลระหว่างประเทศเป็น กรอบในการเจรจา เหมือนกับกรณีที่เจรจากับมาเลเซีย เวียดนาม และพม่า จนประสบความสำเร็จมาแล้ว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำเรื่องนี้ด้วยความสุจริตใจ และหวังดีต่อชาติบ้านเมือง แต่ข้าราชการบางคนกลับให้ข้อมูลท่านไม่ถูกต้องในการตัดสินใจ ผมกราบขออภัยท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เพราะ หากให้ MOU 2544 เดินหน้าต่อไปจะ เป็นเรื่องอันตรายต่อบ้านเมืองในอนาคต”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ธันวาคม 2567

“เลขาฯพปชร.เตรียมดำเนิน คดีแพ่ง-อาญา บุคคลทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ที่พูดพาดพิงให้ชื่อเสียงพรรคและบุคคลในพรรคเสียหาย ย้ำ เอาผิดให้ถึงที่สุด

,

“เลขาฯพปชร.เตรียมดำเนิน คดีแพ่ง-อาญา บุคคลทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ที่พูดพาดพิงให้ชื่อเสียงพรรคและบุคคลในพรรคเสียหาย ย้ำ เอาผิดให้ถึงที่สุด

วันนี้(29 พ.ย.)นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้ปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่างๆ มีบุคคลที่ทั้งเคยหรือไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงพรรคหรือบุคคลในพรรคในลักษณะที่ใส่ความอันเป็นเท็จ ทำให้พรรคหรือบุคคลในพรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ประชาชนที่รับชมสื่อต่างๆเกิดความเข้าใจผิดว่า พรรคหรือบุคคลในพรรค ไปเกี่ยวข้องกับผู้ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ากระทำผิดความผิด ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของพรรคและบุคคลในพรรค

“ฝ่ายกฏหมายของพรรคกำลังรวบรวมพยานหลักฐานจากข่าวหรือคลิปข่าวที่บุคคลทั้งเคยหรือไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ในลักษณะใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้พรรคเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง พรรคจะพิจารณาใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องชื่อเสียงและเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน ทั้งนี้พรรคจะมอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลอาญา เพื่อเอาผิดบุคคลดังกล่าวจนถึงที่สุด” นายไพบูลย์ กล่าว 

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ธันวาคม 2567

พล.อ. ประวิตร มอบบิ๊กอ๊อด ประชุมโอลิมปิค ติดตามความก้าวหน้า เจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 เพิ่มเชียงใหม่ เจ้าภาพ แข่งฟุตบอลรอบคัดเลือก

พล.อ. ประวิตร มอบบิ๊กอ๊อด ประชุมโอลิมปิค ติดตามความก้าวหน้า เจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 เพิ่มเชียงใหม่ เจ้าภาพ
แข่งฟุตบอลรอบคัดเลือก

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการจัดการประชุมกรรมการบริหารคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 โดยวันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ        ได้มอบหมายให้ พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพฯ เป็นประธาน
การประชุมฯ แทน ซึ่งมีวาระสำคัญ คือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า และการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาชาติไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ความก้าวหน้าของ สมาคมสหพันธ์กีฬาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAGF Office) เกี่ยวกับผลการประชุมมนตรีกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 2 จากผู้แทนชาติสมาชิก 11 ชาติ ที่เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติชนิดกีฬา ประเภทกีฬา และรายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พร้อมสนามแข่งขัน 3 จังหวัดเจ้าภาพ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสงขลา ประกอบไปด้วย 50 ชนิดกีฬา 105 ประเภทกีฬา 569 รายการ และกีฬาสาธิต อีก 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ ชักกะเย่อ จานร่อน และกีฬาทางอากาศ นอกจากนี้ ได้อนุมัติบรรจุ 3 ชนิดกีฬา คือ กาบัดดี้ วู้ดบอล และเจ็ตสกี ให้สามารถจัดการแข่งขันได้ ซึ่ง กรุงเทพฯ จะใช้แข่งขันจำนวน 38 สนาม ชลบุรี 14 สนาม สงขลา 6 สนาม และจะเพิ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือก ขณะที่ มาเลเซีย ยืนยันการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 34 ในปี 2570 แน่นอนแล้ว ส่วนการเตรียมเป็นเจ้าภาพของไทยในปีหน้านั้น สิ่งที่กำลังดำเนินการ คือการปรับปรุงสถานที่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ธันวาคมนี้ การเตรียมข้อมูลต่างๆในการเตรียมทีมนักกีฬา ทั้งเรื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกายนักกีฬา ความต้องการด้านงบประมาณ ที่เตรียมจะขออนุมัติงบกลางเพิ่มเติม เพื่อให้การเตรียมทีมนักกีฬาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับความคืบหน้า การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 7-14 กุมภาพันธ์ ปี 2568 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ 6 ชนิดกีฬา โดยจะมี 2 ชนิดกีฬาที่เริ่มแข่งขันก่อนพิธีเปิด คือ กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง และกีฬาเคอร์ลิ่ง โดยไทยเตรียมส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมชิงชัยจำนวนทั้งสิ้น 132 คน นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาชาติไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับการพัฒนาการกีฬาของชาติ เพื่อส่งเสริมให้ยุวชน เยาวชน และประชาชนทั่วไปให้มีนิสัยรักการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่สังคมที่น่าอยู่ ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน พัฒนาทักษะและความสามารถในการเล่นกีฬาสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยให้มีการสนับสนุน การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาศักยภาพนักกีฬา ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกีฬาของประเทศทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะมีพิจารณาโรงเรียนกีฬานำร่อง ประเภทต่างๆ ได้แก่ มวยไทย มวยสากล ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล กรีฑา ตะกร้อ และกีฬาอื่นๆ ตามความถนัดของแต่ละภูมิลำเนา สำหรับพื้นที่ดำเนินการ คือ จังหวัดที่มีโรงเรียนกีฬาในสังกัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

โดยประธานการประชุมยังได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมเตรียมทีมนักกีฬา และความพร้อมด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ของไทยในปีหน้า พร้อมกำชับให้ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา และด้านโภชนาการ เข้ามาช่วยสนับสนุนผลักดันให้การเตรียมทีมมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงเข้มงวดการงดใช้สารต้องห้ามอย่างเด็ดขาด และขอให้พิจารณาส่งเสริมเปิดโอกาสให้นักกีฬาหน้าใหม่ได้สร้างผลงานเพื่อพัฒนาตนเองด้วย โอกาสนี้ ประธานการประชุมได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจ กับเจ้าหน้าที่และทุกสมาคมกีฬา เชื่อมั่นว่าทุกคนจะช่วยกันเตรียมความพร้อมได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายความสำเร็จ ซึ่งจะนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศชาติ และประชาชน ต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2567

“พล.อ.ประวิตร”มอบหมาย สส.คอซีย์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปัตตานี พร้อม ส่งเสบียงน้ำดื่ม-อาหารปรุงสุก เข้าพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนให้ ปชช.

“พล.อ.ประวิตร”มอบหมาย สส.คอซีย์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปัตตานี
พร้อม ส่งเสบียงน้ำดื่ม-อาหารปรุงสุก เข้าพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนให้ ปชช.

วันนี้(29 พ.ย.)  นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึง สถานการณ์อุทกภัยใน จ.ปัตตานีว่า ขณะนี้ยังมีปริมาณฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ในแม่น้ำสายหลัก โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี และคลองตุยง ทำให้มีน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงได้สั่งการให้ตนเข้าดูแลประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และรับมือกับสถานการณ์วิกฤติในครั้งนี้ โดยการจัดหาอาหารปรุงสุกใหม่ และน้ำดื่ม เพื่อสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ

“พล.อ.ประวิตร เป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเฉพาะพื้นที่ปัตตานี ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำของ จ.ยะลา ส่งผลให้พื้นที่มีน้ำท่วมเป็นวงกว้าง จึงได้สั่งให้มีการติดตามสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด”นายคอซีย์ กล่าว

นายคอซีย์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมเรายังได้จัดตั้งโรงครัว ที่ทำการ สส.ของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายอาหารให้ถึงมือพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งมีการประสานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของภัยธรรมชาติในครั้งนี้ เพราะถือว่าสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 30 ปี และหากฝนยังตกหนักต่อเนื่องไปอีก ตนเชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางเกษตรอย่างแน่นอน โดยเรื่องนี้ตนจะประสานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยังคงต้องเฝ้าระวัง สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ซึ่งทางกรมชลประทานยังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมา หากสถานการณ์ฝนยังตกต่อเนื่อง จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อถึงจุดวิกฤติของความจุน้ำในเขื่อน  กรมชลฯ จะปล่อยน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อน  อาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนอย่างยาวนานเช่นกัน ขณะนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่า ฝนจะมีการทิ้งช่วงหยุดตก เพื่อให้เกิดการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2567