โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

ปี: 2024

“สส.ทวี” รับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนายจ้าง วอนแก้ปัญหาการทำบัตรชมพู-ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว หลัง ยังพบปัญหาหลายด้าน ทำให้มีแรงงานผิด กม.มากขึ้น

“สส.ทวี” รับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนายจ้าง วอนแก้ปัญหาการทำบัตรชมพู-ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว หลัง ยังพบปัญหาหลายด้าน ทำให้มีแรงงานผิด กม.มากขึ้น

18 พ.ย.2567 นายทวี สุระบาล สส.ตรัง เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงาน รับยื่นหนังสือจาก นางนิลุบล พงษ์พยอม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว และคณะ เพื่อขอให้  ติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำบัตรชมพูแรงงานต่างด้าว และการต่อใบอนุญาตทำงานแรงงาน เนื่องจากมีข้อกังวลใจและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดย ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวได้เข้าให้ข้อมูลและแสดงถึงข้อกังวลต่อที่ประชุมคณะ กมธ. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาในประเด็นเรื่องการจัดทำบัตรชมพูสำหรับแรงงานต่างด้าว หลังจากมีการนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมแล้ว ทางสำนักบริหารการทะเบียนได้มีการสั่งการกำหนดแนวทางในเรื่องดังกล่าว โดยให้สำนักทะเบียนดำเนินการรับเอกสารที่ยื่นขอทำบัตรชมพูของคนต่างด้าวให้เสร็จภายใน 31 ต.ค. 67 และหากไม่สามารถจัดทำบัตรชมพูให้ทันตามกำหนด ให้สำนักทะเบียนจัดทำหนังสือขอเปิดระบบและบัญชีรายชื่อของคนต่างด้าวภายในวันที่ 5 พ.ย. 67 เพื่อดำเนินการจัดทำให้เสร็จตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี

ปัจจุบันก็ยังพบศูนย์ทะเบียนบางส่วนยังไม่ดำเนินการรับเอกสารของแรงงานต่างด้าวไว้ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และยังไม่มีมาตรการช่วยเหลืออื่นใดจากภาครัฐ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว พบว่ามีสำนักงานจัดหางานบางพื้นที่ปฏิเสธที่จะรับดำเนินการแจ้งเข้าเปลี่ยนนายจ้างให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรชมพู ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถดำเนินการแจ้งเข้าภายใน 60 วัน ได้กลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนและความเสี่ยงแก่นายจ้างเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ทางกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว มีความกังวลใจต่อแนวทางในการต่อใบอนุญาตทำงาน และความเสี่ยงของลูกจ้างที่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย จึงขอเสนอให้กมธ. หารือไปยังกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อลดภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติต่อไป

ด้านนายทวี กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ประธานคณะ กมธ.แรงงาน มอบหมายให้มารับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากการทำบัตรชมพู และการต่อใบอนุญาตการทำงานแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ความล่าช้า ความแออัดในการขึ้นทะเบียน กลุ่มนายจ้างมีความกังวลใจต่อแนวทางในการต่อใบอนุญาตและการทำงานที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยทาง กมธ.ยินดีรับข้อเรียกร้องของกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว และจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะ กมธ. เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 พฤศจิกายน 2567

พปชร.แนะ รัฐบาล เจรจาผลประโยชน์ทางทะเล บนหลักเจรจาพื้นที่ด้วยหลักกฎหมายสากล ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส หวัง การเจรจาจะแก้วิกฤติพลังงานในอนาคต

พปชร.แนะ รัฐบาล เจรจาผลประโยชน์ทางทะเล บนหลักเจรจาพื้นที่ด้วยหลักกฎหมายสากล ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส หวัง การเจรจาจะแก้วิกฤติพลังงานในอนาคต

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.เวลา 11.00 น.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในการแถลงทุกครั้ง เราไม่ได้ขัดขวางการที่จะเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อน ในฐานะอดีตรัฐมนตรีพลังงานผมทราบถึงความจำเป็นที่ประเทศของเราต้องมีแหล่งพลังงานมารองรับความมั่นคงในอนาคต

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในประเด็นที่สอง เรายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยแน่นอน  เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด เราไม่ได้เสียเกาะกูด แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดได้ถูกละเมิด บนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล เจนีวา 1982 หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และเป็นจุดเริ่มของการเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อโต้แย้งในการเจรจา

ในประเด็นที่สาม ขอเรียนว่า พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ยกเลิก MOU2544 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งนี้ เพราะ MOU 2544 มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน มีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมาย เจนีวา 1982 ดังนั้น การเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากลดังกล่าว หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศ จะมีผลระยะสั้น คือจะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงาน ในพืันทึ่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทยในระยะยาว จะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้อีก นอกจากนั้น MOU2544 พบว่าด้วยความเร่งรีบในการดำเนินการเมื่อปี2544 พบข้อบกพร่องของเอกสารสำคัญแนบท้าย

ด้าน ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชี้แจงตอบนายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 2544 ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้

1.พปชร. ตรวจพบว่า รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใด กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือ ขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีป กับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958
 
2.MOU 2544 ลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตร. กม.MOU 2544 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากลได้ และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายสากลของกัมพูชานี้เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการ กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพ

3.การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทยใกล้อ่าวตัว ดังปรากฎตามแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของฝ่ายกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา

4.รัฐบาลอธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฎข้อความไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ยอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบว่า เส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย

5) เทียบกรณี ไทย-มาเลเซีย พบว่า กรณีกัมพูชามีการดำเนินการก็เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด โดยเขียน 9E 10E 11E ที่ถูกต้องเขียน 9N 10N 11N เทียบกรณี มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU พื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาขนาดใหญ่โตกว่า 4  เท่า วิธีดำเนินการก็แตกต่าง เทียบกับกรณี ไทย-มาเลเซีย จะตั้งคณะเจรจาให้เหลือพื้นที่ทับซ้อนเล็กที่สุดเสียก่อน เมื่อตกลงกันได้ จึงค่อยทำ MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม อาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต

6.หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต

“หากกัมพูชายึดถือกฏหมายทะเลสากล เส้นไหล่ทวีประหว่างกันจะลากจากหลักเขตที่ 73 เฉียงลงทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดและเกาะกง พื้นที่ทับซ้อนจะเหลือประมาณ 7000 ตร.กม. เมื่อพัฒนาปิโตรเลียมเสร็จสิ้น แบ่งฝ่ายละครึ่ง ไทยจะเสียพื้นที่ไปเพียง 3500 ตร.กม.เท่านั้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา โดยยึดแนวทางที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย“

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของกระทรวงต่างประเทศ (กต.) อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 2544 โดยขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้้แจงต่อประชาชนว่า กต.ไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากล ใช่หรือไม่?
 
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า เส้นดังกล่าวขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ คือ
(ก) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด
(ข) ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์ และ
(ค) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสนธิสัญญาฯ
และกต.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว
 
นายธีระชัย ยังกล่าวต่อว่า ตนจึงเรียกร้องให้ กต.ตอบคำถามเหล่านี้
1.กต.ได้มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล
2.กต.เคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่?
3.กต.เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชาที่กต.รู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้ทำไม?
4. MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากล ใช่หรือไม่?
5.เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วน ใช่หรือไม่?

“หัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่กต.ดำเนินการกลับทางโดยตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากลเพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่กต.ไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาลเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU ใช่หรือไม่? ” นายธีระชัย กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567

“สนธิรัตน์” จี้ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

,

“สนธิรัตน์” จี้ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

วันนี้ (4 พ.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊คกล่าวถึงกรณีที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า มติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU2544” หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ปี พ.ศ.2544 (MOU2544) ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ซึ่งยังคงมีผลผูกพันทางกฎหมายจนถึงปัจจุบัน

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้นที่เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU2544 ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ ทั้งผู้นำพรรค สมาชิกพรรคหลายท่านก็นั่งอยู่ในรัฐบาลเวลานี้

“ผมจึงอยากเรียกร้องจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ให้ออกมายืนหยัดในจุดยืนเรื่องการยกเลิก MOU2544 แบบที่ทุกท่านที่ได้เห็นชอบร่วมกันใน ครม.เวลานั้น เป็นการร่วมปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด ไม่ให้เอื้อประโยชน์ทับซ้อนกับผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนใด” นายสนธิรัตน์กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2567

บิ๊กป้อม ลงใต้ เยี่ยมศูนย์พักพิงใจอุ่นไอรัก ปลูกต้นรวงผึ้ง ไหว้หลวงปู่ทวด ทอดกฐินวัดช้างให้

,

บิ๊กป้อม ลงใต้ เยี่ยมศูนย์พักพิงใจอุ่นไอรัก ปลูกต้นรวงผึ้ง ไหว้หลวงปู่ทวด ทอดกฐินวัดช้างให้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางเยี่ยมศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรักเทศบาล ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และปลูกต้นรวงผึ้ง เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.พรรค ร่วมคณะ อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.พังงา นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.สกลนคร นายสุธรรม จริตงาม ส.ส.นครศรีธรรมราช และ ส.ส.ของพรรค เช่น นายวิริยะ ทองผา ส.ส.มุกดาหาร เขต 1 นายคอซีย์ มามุ ส.ส.ปัตตานี นายทวี สุระบาล ส.ส.ตรัง

ทั้งนี้ศูนย์พักพิงชั่วคราวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจในหลักการบริหาร จัดการ และแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์พักพิงฯ เมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ติดทะเลทางภาคใต้ ทำให้ประชาชนมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งภาครัฐสามารถเข้ามาบริหารจัดการช่วยเหลือ ดูแลเบื้องต้นได้อย่างทั่วถึง

จากนั้น พล.อ.ประวิตรเดินทางไปที่ราษฎร์บูรณาราม (วัดช้างให้) ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยสักการะรูปหล่อหลวงปู่ทวด ก่อนเป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี ถวายเครื่องบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรม แก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป

ที่มา: https://www.matichon.co.th/
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2567

“หม่อมกร” แฉ ผู้ร้ายตัวจริงปมรถบัสมรณะ คือ ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติไม่ตัดจ่ายก๊าซ เตรียมชง ก.อุตสาหกรรม ยกเลิก มอก.2333 รถบริการต้องได้มาตรฐานยุโรปและ ISO

,

“หม่อมกร” แฉ ผู้ร้ายตัวจริงปมรถบัสมรณะ คือ ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติไม่ตัดจ่ายก๊าซ เตรียมชง ก.อุตสาหกรรม ยกเลิก มอก.2333 รถบริการต้องได้มาตรฐานยุโรปและ ISO

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐได้ติดตามประเด็นปัญหาของรถโดยสารที่ติดตั้งระบบก๊าซ NGV และเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเกิดไฟไหม้รุนแรงมีคนเสียชีวิตนั้น นอกจากเกิดขึ้นจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ภาครัฐยังกำหนดมาตรฐาน มอก.2333 ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลในเรื่องลิ้นเปิดปิดการจ่ายก๊าซที่หัวถัง

ทั้งนี้ มาตรฐาน มอก.ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้ลิ้นปิด-เปิดด้วยมือหรือลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติก็ได้ แต่ตามมาตรฐานสากล ต้องมีทั้งลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติ และลิ้นปิด-เปิดด้วยมือ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดเมื่อระบบก๊าซรั่ว จะตัดการจ่ายก๊าซจากถังทันที

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า พรรคพลังประชารัฐได้ ยื่นหนังสือถึงนายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และล่าสุดได้รับทราบความคืบหน้าจากท่านรัฐมนตรี รวมถึงได้พบกับผู้แทนของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการประชุมเสวนาจัดโดยสภาของผู้บริโภค ได้รับคำตอบว่า มาตรฐาน มอก.2333 แตกต่างจากมาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 ตามข้อร้องเรียนของพรรคฯ จริง

“พรรคพลังประชารัฐจึงเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมกับพี่น้องคนไทยขึ้นอีก ควรกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะต้องติดตั้งลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติ (โซลินอยด์วาล์ว) เพิ่มเติมที่ถังทุกใบ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อถัง ซึ่งคุ้มค่าต่อการรักษาชีวิตคน โดยทางพรรคพลังประชารัฐ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเร็ว“ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถเก่าที่มีการติดตั้งถังไว้แล้วมีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.ยกเลิก มาตรฐาน มอก.2333 จะทำให้รถที่ให้บริการอยู่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 เร่งดำเนินการปรับปรุงมาตรฐาน มอก.2333 ให้เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 ทุกประการ ส่วนรถใหม่ต้องเพิ่มเติมเรื่องจุดตั้งถังมีสองแนวทาง คือ บนหลังคารถหรือส่วนที่ท้ายสุดของรถ พร้อมติดตั้งผนังกันไฟและช่องระบายก๊าซออกนอกตัวรถด้านบน ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แม้เป็นฝ่ายค้านก็ทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพี่น้องประชาชนได้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 พฤศจิกายน 2567

พปชร.เตือนรัฐบาล เศรษฐกิจไทยอาจก้าวสู่จุดพลิกผันจะฟื้นหรือฟุบ แนะแก้ 2 โจทย์ใหญ่ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ “แก้หนี้ครัวเรือน-กระตุ้นขีดความสามารถแข่งขัน” ชี้ ศก.จะเติบโตต้องมีวินัยการคลัง สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ

,

พปชร.เตือนรัฐบาล เศรษฐกิจไทยอาจก้าวสู่จุดพลิกผันจะฟื้นหรือฟุบ แนะแก้ 2 โจทย์ใหญ่ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ “แก้หนี้ครัวเรือน-กระตุ้นขีดความสามารถแข่งขัน” ชี้ ศก.จะเติบโตต้องมีวินัยการคลัง สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.67 เวลา 11.00 น.ที่พรรคพลังประชารัฐ ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลให้ตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่จุดพลิกผัน ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เน้นย้ำรัฐบาลต้องเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมา แก้หนี้อย่างจริงจัง ลดค่าใช้จ่ายพลังงาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

โดย ดร.อุตตม ชี้ว่าเศรษฐกิจเพื่อนบ้านอาเซียนเติบโตและฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เช่น เวียดนามโต 6.1% ฟิลิปปินส์ 6.0% อินโดนีเชีย 5.0% มาเลเซีย 4.9% และสิงคโปร์ 3.0% แต่ประเทศไทยยังคงฟื้นตัวช้าและโตต่ำเพียง 2.4% (World Bank) โตสูงกว่าพม่า (1%) ประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับโพลสำรวจ ม.หอการค้า (ล่าสุด ก.ย.67) ที่พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 18 เดือน (เหลือ 48.8%) สะท้อนความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้แจกเงิน 10,000 บาท

ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศได้ เศรษฐกิจไทยยิ่งฟื้นตัวช้า การเติบโตที่ไม่เพียงพอจะทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าและดึงดูดเงินลงทุน รวมทั้งพัฒนาประเทศ และล่าสุด IMF คาดปี 2571 ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามและฟิลิปปินส์จะแซงไทย ขนาดเศรษฐกิจไทยจะหล่นเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน เหตุเพื่อนบ้านโตสูงกว่าไทยถึง 2 เท่าทุกปี ขณะที่ SCB EIC เตือนไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง ทั้งหมดสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วน ต้องฟื้นคืน พร้อมปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง

ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมี 2 โจทย์ใหญ่ในการแก้เศรษฐกิจ คือ 1.เร่งฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว แก้หนี้อย่างจริงจัง โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก แตะระดับ 16.32 ล้านล้านบาท หรือ 89.61% ของ GDP รัฐบาลประกาศแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรก โดยรัฐบาลต้องปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้สามารถชำระได้จริง พร้อมเพิ่มทักษะ สร้างโอกาสหารายได้ และต้องเริ่มจากฐานรากอย่างเท่าเทียม ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ ตนเห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในสามเรื่อง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง อยากใช้โอกาสนี้ให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อจะได้ตอบสนองต่อความคาดหวังของพี่น้องประชาชนให้ทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น

“รัฐบาลเพื่อไทยได้เคยประกาศนโยบายในช่วงหาเสียงไว้ว่า จะลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาก๊าซหุงต้ม เป็นชุดนโยบายพลังงานที่ประกาศออกไปเพื่ออยากจะได้คะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว มีอำนาจแล้ว ต้องถามว่า ได้ลงมือขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ อีกทั้งก็ไม่ได้กำชับให้กระทรวงพลังงานดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน หรือเป็นเพียงการอุดหนุนระยะสั้น แต่ปัญหาโครงสร้างยังมีความไม่ชัดเจน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือการจะเปิดประมูลไฟฟ้ารอบใหม่ ที่อาจมีความไม่โปร่งใสจนเกิดการฟ้องร้องเหมือนการประมูลในรอบที่ผ่านมา เช่น การเน้นคุณสมบัติผู้สมัครและความพร้อมของโครงการที่น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้ง 3 มิติ มากกว่าการ Fix ราคา ซึ่งจะทำให้การเปิดประมูลนำไปสู่ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกลง การเร่งประมูลเพื่อเป้าหมายพลังงานสีเขียวรองรับอนาคต แต่ในแผน PDP โดยรวมปริมาณเกินกว่าความต้องการใช้หรือไม่ และภาระจะตกต่อประชาชนแค่ไหน การประมูลควรกำหนดราคาควบคู่ไปกับประเภทของเทคโนโลยีที่จะผลิตไฟฟ้า และควรมีทิศทางราคาที่ถูกลงเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มีต้นทุนถูกลง จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และการประมูลต้องโปร่งใส ไม่สร้างความกังขาให้สังคม

“ในการแถลงข่าวครั้งที่แล้ว ตนได้วิจารณ์ถึงนโยบายเติมเงินในบัตรประชารัฐ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นการทำงานไม่ตรงปกกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้เคยประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง เมื่อแจกเงิน 1 หมื่นบาท ในเดือนกันยายน ซึ่งนิด้าโพลบอกว่า คนเอาเงินไปใช้หนี้ ไปใช้จ่ายทั่วไป รวมถึงเป็นเงินเก็บ จึงทำให้พายุหมุนทาง ศก.ไม่เกิด เงินไม่ถูกใช้เป็นทอดๆ ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ก็ยังไม่มีความชัดเจน วันนี้จะเห็นว่าสองนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยที่ประกาศไว้ ทั้งราคาพลังงานและดิจิตอลวอลเลตยังไม่ตรงปก ไม่สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า หลายสัปดาห์ก่อนได้เห็นรัฐบาลดำเนินโครงการที่เป็นภาคต่อของโครงการแจกเงิน 1 หมื่น ชื่อโครงการฟื้นฟู ศก.ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศว่าจะสามารถกระตุ้น ศก.ได้มากถึง 110,000 ล้านบาท ตนได้ไปตรวจสอบตัวเลขของโครงการนี้ รู้สึกว่าเป็นการประเมินที่เกินจริง เขาประเมินกันว่า กลุ่มที่ได้รับเงิน 1 หมื่นบาท น่าจะนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้าราคาถูก ประมาณคนละ 5 พันกว่าบาท ซึ่งเป็นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องแต่งกาย เมื่อนำเงิน 5 พันกว่าบาท คูณด้วยจำนวนประชาชนประมาณ 14 ล้านคน ก็จะเป็นเงินประมาณ 78,000 ล้านบาท การประเมินตัวเลขแบบนี้ต้องทบทวน เพราะเหมารวมเกินไป รัฐบาลแน่ใจหรือไม่ว่า ประชาชนใช้เงินกับกิจกรรมอะไร ใช้ผ่านการจัดกิจกรรมของรัฐบาลหรือไม่ วันนี้ รัฐบาลก็ตอบคำถามนี้ได้ไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาลอาจไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ต้องการ

ดร.อุตตม กล่าวต่อว่า โจทย์ที่ 2 คือ การเร่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการเร่งลงทุนเพิ่มทักษะคนไทย สร้างความเข็มแข็งตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากพร้อมยกระดับศักยภาพ SME ส่งเสริมอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ พร้อมสังคยานากฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพราะการส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยอดส่งออกของไทย 9 เดือนแรก ขยายตัว 3.9% ส่วนเวียดนามและมาเลเซียพุ่ง 15.3% และ 8.4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค นอกจาก ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ต้องดู ‘เม็ดเงินลงทุนจริง’ ในระบบเศรษฐกิจ

“การจัดงบประมาณเพื่อฟื้นเศรษฐกิจต้องคุ้มค่า ลำดับความสำคัญ การเติบโตต้องควบคู่กับวินัยการคลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากภายในและเรียกคืนความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟุบลงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในเวทีโลก” ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวข้องกับปากท้องของคนเป็นวงกว้างคือ พี่น้องผู้ประกอบการ SME ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ตรงนี้ ขอฝากโจทย์ให้รัฐบาล ทบทวนว่า ได้ออกมาตรการปกป้องต่อผลกระทบที่มีต่อ SME อย่างไร รวมทั้งเราจะมีมาตรการชัดเจนที่จะปกป้อง SME อย่างอินโดนีเซียหรือไม่ ที่เขาดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือส่งเสริมพี่น้อง SMEs ชาวไทย ยังไม่เห็นความชัดเจนดีพอ เป็นคำถามและโจทย์การบริหารประเทศที่อยากฝากให้กับรัฐบาล

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 พฤศจิกายน 2567

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศแต่งตั้ง ‘อัคร ทองใจสด’ รองโฆษกพรรค ดึงคนรุ่นใหม่เสริมศักยภาพภารกิจสื่อสารครอบคลุมทุกมิติเพื่อ ปชช.

,

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศแต่งตั้ง ‘อัคร ทองใจสด’ รองโฆษกพรรค ดึงคนรุ่นใหม่เสริมศักยภาพภารกิจสื่อสารครอบคลุมทุกมิติเพื่อ ปชช.

(31 ตุลาคม 2567) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ลงนามในคำสั่งที่ 28/2567 เพื่อแต่งตั้ง นายอัคร ทองใจสด เข้ารับตำแหน่งรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โดยมีภารกิจสำคัญ เพื่อสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย มุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยเป้าหมายของการเป็น “พรรคอนุรักษ์นิยม ทันสมัย”
 
ทั้งนี้ การแต่งตั้งเป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 ข้อ 17 (1) (ช) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยพรรคเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง จึงแต่งตั้งให้นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เป็นรองโฆษกพรรค เพื่อเข้ามาทำหน้าที่เสริมทัพให้กับทีมโฆษกของพรรค พร้อมสานต่อภารกิจด้านประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรและที่พรรคพลังประชารัฐ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 31 ตุลาคม 2567

พปชร.คัดค้าน เจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU44 ประกาศ จะไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว จี้ “แพทองธาร” ยกเลิกด่วนก่อนเสียดินแดน

พปชร.คัดค้าน เจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU44 ประกาศ จะไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว จี้ “แพทองธาร” ยกเลิกด่วนก่อนเสียดินแดน

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.เวลา 09.00 น.ที่อาคารรัฐสภา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดย นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรคฯ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคฯ พร้อมด้วย สส.ของพรรคฯ ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU44

โดย นายชัยมงคล กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า พรรคพลังประชารัฐจะคัดค้าน MOU44 ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้เสียดินแดน เสี่ยงเสียอธิปไตยของชาติ และเสี่ยงเสียทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของประชาชน และย้ำให้พรรคพลังประชารัฐดำเนินการให้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชน โดยเราจะไม่ยอมเสียพื้นที่ไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว และจะร่วมกันลงชื่อเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง สส.ของพรรคจะไปยื่นจดหมายให้กับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

“พรรคพลังประชารัฐขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการยกเลิก MOU44 และแก้ปัญหาเขตแดนทางทะเล โดยเห็นความสำคัญของข้อตกลงในเรื่องเขตแดนทางทะเล และอำนาจอธิปไตย ยิ่งไปกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องรักษาทรัพยากรของชาติไว้ให้ลูกหลานสืบไป” นายชัยมงคล กล่าว

ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า ข้อความในเอกสาร MOU44 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่าสองประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วมเพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ใช้เส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU44 ซึ่งขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU44 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย

“ผมไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องถ้าหากรัฐบาลจะใช้ MOU44 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากเห็นว่าผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย” นายธีระชัยกล่าว

นายธีระชัย กล่าวย้ำว่า ถ้าหากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเลตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU44 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ความแตกต่างที่ต้องระวังอย่างยิ่งของพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (MOU44)

1. ไทยและมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว ยังเกิดพื้นที่พิพาท 7,250 ตร.กม. ใช้เวลา 7 ปี จึงตกลงกันได้ มาเลเซียเห็นว่ามีบ่อน้ำมันกลางพื้นที่ หากแบ่งเส้นกึ่งกลางจะเกิดปัญหาจึงเสนอการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันในปี 2523

2. ไทยและเวียตนาม ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว มีพื้นที่ทับซ้อนกันกลางอ่าวไทย เนื้อที่ 6,000 ตร.กม. ได้ตกลงเมื่อ 9 ส.ค.2540 กินเวลา 6 ปี เลือกวิธีแบ่งเขตทางทะเล เพราะมุ่งหมายแก้ปัญหาการทำประมงและโจรสลัด ไทยได้เนื้อที่ 67.75% ส่วนเวียดนามได้ 32.25% ผลสําเร็จเกิดขึ้นบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ

3. ไทยและกัมพูชามีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล ปี 2513 โดยไทยยึดมั่นตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ระหว่างเจรจา ฝ่ายกัมพูชาก็ประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 โดยมิได้เป็นไปตามกฎหมายสากล เพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทยจึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยฝั่งอ่าวไทย ปี 2516 ทำให้เห็นว่า เส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้น เป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต ทำให้การเจรจายุติลง

แต่เพียงสองเดือนของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 รัฐบาลได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งรีบ โดยเริ่มเจรจา 21 เม.ย.2544 และตกลงเซ็นต์ MOU44 ในวันที่ 4 มิ.ย.2544 รวมเวลาเจรจา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิม คือไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล กลับยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตร.กม. ทั้งที่ พื้นที่นี้ เดิมทีไม่มีกฎหมายรับรอง

“รัฐบาลอ้างการการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันบดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูกเพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรองเข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีไทย-มาเลเซียอย่างชัดเจน พรรคพลังประชารัฐ จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิก MOU44 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU44 เขตของกัมพูชา ได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลอาณาเขตของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศสที่เข้ายึดพื้นที่ของสยามเพื่อเป็นตัวประกันในการเจรจาต่อรอง” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 ตุลาคม 2567

“พล.ต.ท.ปิยะ” เผย เลขาฯพรรค ขอขยายเวลาทำงานชุดกรรมการสอบ 20 สส. “ก๊วนธรรมนัส” ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค เพิ่ม 30 วัน

,

“พล.ต.ท.ปิยะ” เผย เลขาฯพรรค ขอขยายเวลาทำงานชุดกรรมการสอบ 20 สส. “ก๊วนธรรมนัส” ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค เพิ่ม 30 วัน

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มีมติให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และนายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ นายชัยมงคล ไชยรบ เป็นกรรมการ นายสุธรรม จริตงาม เป็นเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีสมาชิก สส.พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 20 คน มีการกระทำอันอาจเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค ข้อ 56 อนุ 1 อนุ 3 และอนุ 4 และข้อ 64 กำหนดกรอบเวลาตรวจสอบภายใน 60 วัน

“วันนี้ นายไพบูลย์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อขอขยายระยะเวลาทำงานไปอีก 30 วัน และจะนำมารายงานผลต่อคณะกรรมการบริหารพรรคอีกครั้งหนึ่ง” พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ตุลาคม 2567

“พล.อ.ประวิตร” ยืนยัน พปชร.จะปกป้องอธิปไตยของชาติเต็มที่ ด้าน “หม่อมกร” ชี้ MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการ อาจจะเป็นเหตุให้ไทยเสียพื้นที่เหมือนเขาพระวิหาร เตรียมยื่นนายกฯ ยกเลิกด่วน

,

“พล.อ.ประวิตร” ยืนยัน พปชร.จะปกป้องอธิปไตยของชาติเต็มที่ ด้าน “หม่อมกร” ชี้ MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการ อาจจะเป็นเหตุให้ไทยเสียพื้นที่เหมือนเขาพระวิหาร เตรียมยื่นนายกฯ ยกเลิกด่วน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ซี่งได้สั่งการให้ศูนย์นโยบายฯ และวิชาการของพรรค ไปเร่งติดตามความคืบหน้าของ MOU 2544 ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามไว้ ที่นำไปสู่การปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติอย่างสูงสุดในฐานะฝ่ายค้านอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า MOU 2544 ที่รัฐบาลพยายามจะดำเนินการจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวง จากกรณีศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่มีลักษณะองค์ประกอบคล้ายกันนี้และนำไปสู่การเสียดินแดนในที่สุด ดังนั้น พรรคฯ จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องทรัพยากรและอาณาเขตแห่งราชอาณาจักรไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างถึงที่สุดที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้มีการยกเลิก MOU 2544 หรือขัดขวางการเจรจาใดๆ ที่อาจเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งนี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะปิดสมัยประชุมสมัยสามัญประจำปี 2567 และได้มอบหมายให้ สส.ทุกคนลงพื้นที่ปฎิบัติหน้าที่ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อปัญหาดังกล่าวเสนอต่อสภาฯ ให้สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
 
จากนั้น ภายหลังการประชุม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ได้แถลงข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สั่งการให้ สส.และบุคลากรของพรรค ขับเคลื่อนเพื่อที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่ เพราะเราต้องคุ้มครองดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของคนไทย พรรคพลังประชารัฐจะไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนในเรื่องนี้ไม่ได้

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อปี 2516 ได้มีพระบรมราชโองการ (Royal Command) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สรุปความว่า เพื่อการใช้สิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอ่าวไทย จึงกำหนดเขตไหล่ทวีปตามแผนที่และพิกัดภูมิศาสตร์โดยยึดถือมูลฐานแห่งสิทธิตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เจนีวา 1958 อันเป็นที่ยอมรับกัน โดยท้ายพระบรมราชโองการยังกำหนดไว้ว่า สำหรับสิทธิที่เป็นอาณาเขตต่อเนื่องกับประเทศใกล้เคียง ก็ให้ยึดถือบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา เจนีวา 1958

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การที่กัมพูชาขีดเส้นเขตแดนทางทะเลทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ขีดข้ามเกาะกูด ทะลุไปกลางอ่าวไทย ซึ่งขัดอนุสัญญาเจนีวา 1958 เส้นดังกล่าวจึงขัดกับแผนที่แนบ พระบรมราชโองการที่ประกาศไว้ โดย MOU 2544 ซึ่งรับรองการขีดเส้นแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ เพราะท้ายพระบรมราชโองการระบุชัดเจนว่า อาณาเขตต่อเนื่องกับประเทศใกล้เคียง ก็ให้ยึดถือบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา เจนีวา 1958

“เมื่อเอกสารราชการมีการขัดกัน จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่ต่างประเทศจะนำไปอ้างและอาจจะทำให้เราสูญเสียเหมือนกรณีเขาพระวิหาร นี่คือสาเหตุที่เราสมควรต้องยกเลิก MOU 2544 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องอันตราย“ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค.) เวลา 09.00 น.ทีมพรรคพลังประชารัฐจะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อาคารรัฐสภา พร้อมทั้งยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ตุลาคม 2567

“ผู้กองมาร์ค” เปิดโปงต้นตอฝุ่นพิษภาคเหนือ! ทุนไทยหนุน “โรงไฟฟ้า ห.” แนะนายกฯ จัดการด่วน ก่อนวิกฤตลุกลาม!

,

“ผู้กองมาร์ค” เปิดโปงต้นตอฝุ่นพิษภาคเหนือ! ทุนไทยหนุน “โรงไฟฟ้า ห.” แนะนายกฯ จัดการด่วน ก่อนวิกฤตลุกลาม!

25 ต.ค. 2567 / ภาคเหนือของไทยกำลังเผชิญกับมลพิษร้ายแรงอย่างไม่หยุดหย่อน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องจับตา โรงไฟฟ้าถ่านหิน “ห.” ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทุนจากไทยเป็นส่วนสำคัญ ถูกระบุว่าเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ภาคเหนือจมอยู่ในมลพิษมาแล้วกว่า 7 ปี! ปัญหานี้ไม่เพียงแต่ทำลายสุขภาพคนในพื้นที่ แต่ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

“โรงไฟฟ้าถ่านหินนี้อาจอยู่ในต่างแดน แต่ฝุ่นพิษที่ถูกปล่อยออกมา ทำลายคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างไม่มีข้อยกเว้น” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าว ข้อมูลที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เก็บรวบรวมในพื้นที่จังหวัดน่าน พบสารปรอทปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่

ความจริงที่ถูกเปิดเผยออกมานี้ ทำให้เกิดความกังวลในวงกว้าง ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ จึงเร่งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังโรงไฟฟ้า “ถึงเวลาหรือยังที่ผู้นำประเทศจะแสดงความจริงจังในการจัดการปัญหานี้ เริ่มจากคนใกล้ตัว?” เขากล่าว พร้อมชี้ว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจพลังงาน แต่เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานในการมีอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

นอกจากนั้น เขายังเน้นถึงความจำเป็นในการที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักการ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ที่องค์การสหประชาชาติ (UNGP) กำหนดไว้ “ถึงเวลาแล้วที่ทุนพลังงานต้องโปร่งใส หยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ภาคเหนือจะไม่มีอากาศให้หายใจ!”

การแก้ไขปัญหามลพิษนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ล้ำค่าสำหรับคนไทยทุกคน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวปิดท้ายว่า “สิทธิในอากาศสะอาดไม่ใช่แค่ความหวัง แต่เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องมี!”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 ตุลาคม 2567

“พลเอก ประวิตร” ประธานโอลิมปิค ต้อนรับอบอุ่น “คณะมนตรีซีเกมส์” ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 จัดยิ่งใหญ่ มาตรฐานสากล

,

“พลเอก ประวิตร” ประธานโอลิมปิค ต้อนรับอบอุ่น “คณะมนตรีซีเกมส์” ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 จัดยิ่งใหญ่ มาตรฐานสากล

วันที่ 25 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการ โอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้การต้อนรับคณะมนตรีซีเกมส์ รวม 11 ประเทศ ที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมหารือติดตามความพร้อมการเตรียมจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9 – 20 ธันวาคม 2568 สำหรับการประชุมคณะมนตรีซีเกมส์ครั้งที่ 2 จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ โดยพลเอก.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เดินทางมาเป็นประธาน และกล่าวต้อนรับในฐานะประธานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งได้ยืนยันว่าประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ที่มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของธรรมนูญซีเกมส์ทุกประการ และจะดำเนินการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ภายใต้มาตรฐานในระดับสากลเพื่อรักษาชื่อเสียงของสหพันธ์กีฬาซีเกมส์และประเทศไทยอย่างดีที่สุด

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับมอบของที่ระลึกจากนายกองเอก ชัยภักดิ์ศิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานซีเกมส์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีซีเกมส์ และได้ร่วมถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกกับคณะมนตรีซีเกมส์ ทั้ง 11 ประเทศ  อย่างไรก็ตาม คณะมนตรีซีเกมส์ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ด้วยมิตรไมตรีอีกทั้งแสดงความเชื่อมั่นความสำเร็จอย่างดียิ่งต่อประเทศไทย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 ตุลาคม 2567