โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

”รมช.อรรถกร“ย้ำ ”รมว.ธรรมนัส ประกาศห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำ เผย กรมประมง ตัดราก ถอนโคน เตรียม เหนี่ยวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n ทำหมัน หยุดการแพร่พันธุ์ แก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ

”รมช.อรรถกร“ย้ำ ”รมว.ธรรมนัส ประกาศห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำ เผย กรมประมง ตัดราก ถอนโคน เตรียม เหนี่ยวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n ทำหมัน หยุดการแพร่พันธุ์ แก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่สอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตปลาหมอคางดำ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้หนักมาก ถือเป็นมหันตภัยร้ายที่สามารถทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจสัตว์น้ำไปปีหนึ่งหลาย 1,000 ล้านบาท

โดยนายอรรถกร กล่าวว่า เมื่อในวันที่ 6 พ.ค. ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ตน และ สส.ณัฐชา ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรฯเราจะไม่สนับสนุนให้ประชาชนมีในการเลี้ยงเพิ่ม ต้องกำจัดอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ตนยืนยันได้ โดยต้นตอปัญหามาจากเมื่อปี 2553 มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ สายพันธุ์เอเลี่ยน ซึ่งก็เป็นระยะเวลา 14 ปีก่อน โดยจากข้อมูลที่ตนได้รับจากกรมประมงว่า มีการนำเข้าปลาชนิดนี้อยู่ที่ 2000 ตัว จากบริษัทที่ตนเชื่อว่า พี่น้องคนไทยเคยได้ยินชื่อเป็นอย่างดี เราไม่สามารถปฏิเสธได้

นายอรรถกร กล่าวต่อด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการนำเข้า ตนเชื่อว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี ในการนำเข้ามาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้เจ้าตัวปลาสามารถทนน้ำได้ดีกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการเท่าที่ตนศึกษามาก็คงจะเป็นการไขว้สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้มันมีความคงทนยิ่งขึ้น เพื่อให้มันเกิดผลทางเศรษฐกิจ เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ณ เวลานั้นในวันที่มีการนำเข้ามาทุกอย่างนั้นเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย มีการขออนุญาตถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประมงปี 2490 ซึ่งขณะนั้น ระบุไว้แต่เพียงว่า จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในการนำสัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งมันมีเอกสารมติในที่ประชุมในระบุเลยว่า อนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยขออนุญาตแล้ว ซึ่งก่อนปี 53 คงจะมีการขอนำเข้าประมาณ 5000 ตัว แต่นำเข้าจริง 2,000 ตัว ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ คือ ให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ตาย อย่างน้อย 3 ตัว เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้ผู้ขอนำเข้า แจ้งผลการทดลองแก่กรมประมงและควรมีการป้องกันไม่ให้สัตว์ทดลองหลุดรอดไปในธรรมชาติ ในกรณีที่การทดลองได้ผลไม่ดีผู้ขอนำเข้าไม่ประสงค์จะใช้ปลาต่อไป ขอให้ทำลายและเก็บซากไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ

“จากการตรวจสอบการระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ในช่วงปี 2560 และหลังจากนั้นผมก็เชื่อได้ว่า มันเป็นปัญหาที่ลามมาจนถึงทุกวันนี้ ผมได้ให้กรมประมงตรวจสอบย้อนหลังว่า ผมและกรมประมงยืนยันว่า กรมประมงไม่พบหลักฐานของการนำส่งตัวอย่างของปลาสายพันธุ์นี้เข้ามา ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คือเป็นน่าเสียดาย เพราะถ้าเรามีหลักฐานที่เคยเก็บไว้ ณ เวลานั้น การตรวจสอบย้อนกลับก็จะสามารถทำได้ จริงๆมองตาท่านผมก็รู้ว่าท่านคิดอย่างไร ท่านมองตาผม ท่านก็รู้ว่าผมคิดคล้ายกับท่าน แต่ด้วยเอกสารที่ขณะนี้กรมประมงมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องอ้างอิงไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมไม่สามารถระบุได้ว่า ในปี 60 การส่งมอบตัวอย่างเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อาจจะเกิดขึ้นจริงแล้วไม่ได้มีหลักฐาน หรืออาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ ผมในฐานะที่อยู่ตรงนี้ เบื้องต้นผมก็ต้องเชื่อว่า กรมประมงไปค้นแล้วแต่ไม่มีหลักฐานในการรับตัวอย่างจริงๆ”นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนเจ็บแค้นแทนพี่น้องประชาชนที่เขาได้รับความเดือดร้อน ตนมาอยู่ตรงนี้ก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่การที่จะตรวจสอบหาต้นทางเราขาดแค่ตัวหลักฐานที่เป็นปลาตาย หรือว่าปลาอาจจะป่วย ที่ตามกฎหมายหรือเงื่อนไขนำเข้าจะต้องส่ง ณ เวลานั้น แต่วันนี้เราหาต้นตอไม่เจอ มีข่าวว่า มีคนลักลอบนำเข้าก่อนปี 49 หรือ 53 โดยเป็นการลักลอบนำเข้า ที่จะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ตรงนี้เป็นเพียงหลักฐานที่เป็นพยานบุคคล เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมา แต่ว่ามีคนพบเห็น เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า ต้นตอจริงๆ แล้วที่มันเกิดโรคระบาดมาจากไหน แต่ตนก็พยายามหาต้นตอ เพราะถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้จริง ๆ คนที่ทำผิดก็ควรจะรับผิดชอบต่อความเสียหายระดับประเทศ

นายอรรถกร ยังกล่าวต่อว่า ตนขออ้างอิงการศึกษาการวิจัยที่ตอกย้ำว่า ระยะห่างทางพันธุศาสตร์ของประชากรปลาหมอคางดำทั้งหมดมีค่าที่ต่ำ แสดงให้เห็นว่าแต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันมากนัก หมายความว่า การแพร่ระบาดน่าจะมาจากแหล่งประชากรเดียวกัน แต่ตนก็ไม่สามารถฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าเราไม่มีหลักฐานที่มันชี้เฉพาะเจาะจงว่า การระบาดมันเกิดมาจากใคร เกิดมาจากบริษัทไหน มันเกิดมาจากที่ใด เราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อได้ แต่โชคดีที่ สส.ณัฐชา มีเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่จะมาค้านกับสิ่งที่ตนรับรู้ รับทราบ มาจากกรมประมง ตนยินดีที่จะเอาเอกสารของ สส.ณัฐชา ไปพิจารณาร่วมกับสิ่งที่กรมประมงมี แล้วเราจะดำเนินการต่อไป เรื่องนี้การที่เราจะไปถึงจุดที่ต้องการได้ เราต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เราจะมาหาทางออกนี้ร่วมกัน

ในส่วนของมาตรการของกรมประมงหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกประกาศห้ามเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ เลี้ยงในบ่อ รณรงค์ให้ช่วยกันจับการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ ผมเชื่อว่า กรมประมงทำอย่างเดียวไม่ได้ สส.ทุกท่าน ก็สามารถช่วยแนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรกร ที่ ร.อ.ธรรมนัส ได้ประกาศว่า ห้ามส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์นี้เพราะว่าปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ที่ทำลายระบบนิเวศไปอย่างย่อยยับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาทำแบบเดิมๆ แต่วันนี้ผมสามารถยืนยันได้ว่า ร่างของแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ จะนำไปประชุมใครคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาหมอปลาคางดำในอาทิตย์หน้า ขณะนี้เราจะมี 5 มาตรการ 13 กิจกรรมย่อย หนึ่งในนั้นที่กรมประมงได้เร่งทำอยู่ก็คือ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ ซึ่งเราเชื่อว่า การทำให้โครโมโซมจาก 2n เปลี่ยนเป็น 4n จะทำให้โครโมโซมในปลาชนิดนี้เปลี่ยน จากนั้นเราก็ปล่อยลงแหล่งน้ำ ทะเล พอมันไปผสมพันธุ์กัน นอกจากตัวมันที่จะเป็นหมันแล้ว ก็จะทำให้เพื่อนของมันเป็นหมันตามไปด้วย นี่คือการทำงานของผู้เชี่ยวชาญของกรมประมง และเราคาดว่า ปลาที่จะผ่านการเหนียวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n จะกระโดดลงน้ำครั้งแรกภายในสิ้นปีนี้“นายอรรถกร กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 กรกฎาคม 2567

" ,