โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

พลเอกประวิตร” สั่งทุกหน่วยความมั่นคงปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุก

“พลเอกประวิตร” สั่งทุกหน่วยความมั่นคงปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุก ผลักดันไทยขึ้นสู่ระดับเทียร์ 2ในปี 65 สร้างความเชื่อมั่นนานาประเทศ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เป็นประธาน ประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์เชิงรุก เพื่อให้ประเทศไทยกลับขึ้นสู่ระดับเทียร์ 2 ให้ได้ในปี 2565 พร้อมดำเนินการตามกฎหมาย ให้มีการเร่งจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทั้งหมด โดยในปี 2564 สามารถปราบปรามจับกุม ตามนโยบายของรัฐบาล มียอดสะสางคดีในปี 2564 จำนวน 186 คดี แบ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี 135 คดี ผลิตหรือเผยแพร่ วัตถุ สื่อลามก 12 คดี แสวงหาประโยชน์ทางเพศรูปแบบอื่น 6 คดี การบังคับใช้แรงงาน 30 คดี ขอทาน 2 คดี และแรงงานบังคับ (ม.6/1) 1 คดี ในปี 2565 จำนวน 20 คดี แบ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี 16 คดี ผลิตหรือเผยแพร่ วัตถุ สื่อลามก 2 คดี และการบังคับใช้แรงงาน 2 คดี

ส่วนคดีค้ามนุษย์ “โรฮีนจา” พื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จว.สงขลา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 เป็นคดีความผิดนอกราชอาณาจักร ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายอัยการ เป็นคณะพนักงานสอบสวน ร่วมทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาค้ามนุษย์, อาชญากรรมข้ามชาติ และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 155 ราย โดยจับกุมตัวได้แล้ว 120 ราย เสียชีวิต 2 ราย และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม 33 คน ซึ่งในส่วนของผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้วหลายราย ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา

โดยภาพรวมในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะใน TIP Report มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญ อาทิ การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างการคัดกรองเบื้องต้น จนถึงการคัดแยกเพื่อระบุตัวผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ

การออกกฎกระทรวงแรงงานให้ใช้สัญญาจ้างแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 4 ภาษา ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว การยกระดับฝ่ายศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ขึ้นเป็น สำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานถาวรเทียบเท่ากอง ซึ่งจะทำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยก้าวสู่มาตรฐานระดับสากลในภูมิภาคนี้

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 21 กุมภาพันธ์ 2565

" ,