“สันติ” รมช.สธ.จับมือ พม.เปิดตัวแพลตฟอร์มประเมินสุขภาพเพื่อคนพิการ
นำร่อง 40 รพ.ทั่วประเทศเข้าถึงระบบสาธารณสุขลดภาระค่าเดินทาง
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 67 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ แบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ด้านคนพิการ” ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน ทุกกลุ่มวัย รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ได้แก่ กลุ่มคนป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการ ที่จำเป็นต้องได้รับการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความพิการ กลุ่มคนป่วยที่เกิดความพิการแล้ว ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพกลุ่มคนพิการที่เจ็บป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับและเข้าถึงบริการสุขภาพที่รวดเร็วและมีคุณภาพ “คนพิการจำเป็นต้องได้รับ การประเมินและขึ้นทะเบียนคนพิการ”
กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดให้มีศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาลตั้งแต่ ปี 2563 โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด มาร่วมให้บริการ รับคำร้องขอมีบัตรและออกบัตรคนพิการ ณ โรงพยาบาล และให้บริการส่งต่อ เพื่อรับการฟื้นฟูสมรรถภาพ การรับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ส่งต่อทางการศึกษา การประกอบอาชีพ ตามความเหมาะสม จนถึงปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะมีศูนย์บริการดังกล่าวแล้วอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง แต่ด้วยข้อจำกัด หลายประการยังทำให้การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลให้คนพิการมีความยากลำบากในการเข้าถึง การขึ้นทะเบียนคนพิการ
การพัฒนาแพลตฟอร์ม “การตรวจประเมินและออกเอกสารรับรอง ความพิการแบบอิเล็กทรอนิกส์” ให้เชื่อมโยงกับ “ระบบคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ” ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ภายใต้ระบบอิเล็กทรอนิกส์คนพิการ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ให้สามารถเข้ารับการประเมินวินิจฉัยความพิการจากแพทย์วันใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอวันที่พัฒนาสังคมจังหวัดเข้ามาให้บริการที่โรงพยาบาล และไม่จำเป็นต้องถือเอกสารไปยื่นที่ศาลากลางจังหวัดด้วยตนเอง เนื่องจากระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างสองกระทรวง จะทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงการมีบัตรประจำตัวคนพิการได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลาการเดินทาง และค่าใช้จ่าย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลนำร่อง 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทดลองการใช้งานระบบและจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลรัฐแห่งอื่นๆ ต่อไป
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 20 มิถุนายน 2567