โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“รมว.ธรรมนัส” ตรวจภัยแล้งจ.ราชบุรี เตรียมแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอ หนุนมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจประจำจังหวัด พร้อมมอบสิทธิที่ทำกินให้ชาวสวนผึ้ง

“รมว.ธรรมนัส” ตรวจภัยแล้งจ.ราชบุรี เตรียมแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอ หนุนมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจประจำจังหวัด
พร้อมมอบสิทธิที่ทำกินให้ชาวสวนผึ้ง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และด้านการเกษตร พร้อมรับฟังปัญหาจากเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งจังหวัดราชบุรี มีการเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ประมาณ 88,000 ไร่ โดยอำเภอดำเนินสะดวกมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด คิดเป็น 47,250 ไร่ ซึ่งอยู่เขตโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย ประมาณ 30,125 ไร่ ร้อยละ 64 ของพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมในอําเภอดําเนินสะดวก เกษตรกรมีความต้องการน้ำประมาณ 86,069 ลบ.ม./วัน หรือ 31.4 ล้านลบ.ม. ต่อปี โดยมีมูลค่าผลผลิตเฉลี่ย ปีละประมาณ 3,900 ล้านบาท มีกําไรเฉลี่ย ประมาณ 2,600 ล้านบาท ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ส่งเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่เพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอม หากในอนาคตมีการเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งไม่สามารถส่งปริมาณน้ำได้ตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ จึงได้มีการวางแผนปรับปรุงระบบส่งน้ําเพื่อสนับสนุนพื้นที่อําเภอดําเนินสะดวก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยประมาณกลางเดือนตุลาคม ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าจะมีพายุเข้ามาอีกหลายลูก จึงเชื่อว่าจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีน่าจะสามารถบริหารจัดการได้จนถึงฤดูฝนปีหน้า แต่สิ่งสำคัญคือเกษตรกรในอำเภอโพธารามและอำเภอใกล้เคียง ที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องบริหารจัดการในเรื่องการส่งน้ำไปสู่แปลงเกษตร จึงได้มอบหมายให้มีการปรับปรุงคลองส่งน้ำ อีกทั้งยังมอบหมายกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ในเรื่องของปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เดินทางมารับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรโดยตรง และพร้อมทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อนำไปจัดทำแผนการดำเนินงาน ในเบื้องต้น ได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) รวมทั้งได้มอบหมายรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้ง Mr.สินค้า ขับเคลื่อนสินค้ามะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดราชบุรี และมอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งน้ำ และนำเสนอผลให้พิจารณาโดยด่วน

จากนั้น รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบงานกำจัดวัชพืช ณ ประตูระบายน้ำคลองบางสองร้อย ตำบลบางโตนด และหมู่ที่ 9 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม ซึ่งในปัจจุบันคลองบางสองร้อยมีสภาพตื้นเขิน ส่งผลให้วัชพืชและผักตบชวาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วม ในส่วนฤดูแล้งเกิดสภาวะขาดแคลนน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในคลองทั้ง 13 จุด สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ได้มีการวางแผนกำจัดวัชพืชในอนาคตโดยใช้เครื่องจักรกำจัดวัชพืช และใช้แรงคน ร่วมกันในการเก็บวัชพืชไม่ให้เกิดการสะสมจำนวนมาก ทั้งนี้ จากการดำเนินงานปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำ มีเกษตรกรผู้ได้รับผลประโยชน์ 6,350 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 17,500 ไร่ กำจัดผักตบชวาได้ 819.9 ไร่ คิดเป็นจำนวน 65,592 ตัน ความยาว 147 กิโลเมตร

นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ได้พบปะพี่น้องประชาชนในที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง เพื่อรับฟังปัญหาการจัดการน้ำ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการอาคารทดนํ้าบ้านสวนผึ้ง ตําบลสวนผึ้ง อําเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ดินถล่ม และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ําสำหรับการอุปโภคและบริโภค จํานวน 1,200 ครัวเรือน ในฤดูแล้ง พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4,000 ไร่ในพื้นที่ 4 ตำบล (สวนผึ้ง ป่าหวาน ท่าเคย และตะนาวศรี) ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) แก่เกษตรในที่ดินสวนผึ้ง จำนวน 10 ราย และมอบพื้นที่โครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลุ่ม-ดอน ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม Zoning by Agri Map โดยสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี กรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 2,500 ไร่ และให้การสนับสนุนปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน จำนวน 100 ตัน ให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS จำนวน 10 กลุ่ม 50 ตัน และศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศูนย์ ศพก.) จำนวน 50 ตัน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 กันยายน 2566

" ,