จัดหนักรัฐบาลใหม่! ทีม ศก. พรรคพลังประชารัฐ ‘’อุตตม-สนธิรัตน์-ธีระชัย“ แพ็คทีมวิพากษ์ นโยบาย ศก. รัฐบาลใหม่ ยก ดิจิตัลวอลเล็ต มีจุดบกพร่องเยอะมาก ไม่ต่าง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มอง เปลี่ยนตลอด ทั้งวิธีการ-กลุ่มเป้าหมาย-เกิดพายุหมุนลำบาก ไม่สมเป็นนโยบายเรือธง
วันที่ 17 กันยายน 2567 ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนายกแพทองธารที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมุ่งตรงไปยังนโยบาย ศก. ทั้งการแก้หนี้ ดิจิตอลวอลเล็ต และกองทุนวายุภักษ์
ด้านนายอุตตม อดีตรัฐมนตรีคลัง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำหนดการแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกของคณะรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่า การแก้หนี้ให้บรรลุผลนั้น ต้องทำครบวงจร เช่น รัฐบาลต้องผนึกธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเอกชน/รัฐ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยืนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อน เติมกำลังให้ประชาชนและเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศ ทั้งนี้ โครงการที่ทำต้องเข้าถึงประชาชนฐานรากทั่วทั้งประเทศ บริการเสมอภาคเป็นธรรม พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาร่วมขับเคลื่อน
ดร. อุตตม กล่าวถึงมาตรการที่ใช้ขับเคลื่อนว่า “รัฐมนตรีการคลังควรหารือกับ ธปท. ถึงแนวทางการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน ชั่วคราว 5 ปี เพื่อนำเงินที่ประหยัดได้ไปลด ยอดหนี้ (haircut) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน และต้องเจรจาให้ธนาคารต้องนำกำไรสะสมมาร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน” นายอุตตม กล่าวทิ้งท้าย
นายสนธิรัตน์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายดิจิตอลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่เปลี่ยนมาโดยตลอด ตั้งแต่รูปแบบที่เดิมทีจะแจกเป็นเงินดิจิตอล ทั้งที่มีหลายฝ่ายท้วงติง มาเป็นเงินสด มีการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการแจกเงิน กระทั่งการเปลี่ยนแปลงของประเภทสินค้าที่จะใช้จ่าย เรียกได้ว่า ทั้งทามไลน์และวิธีการดำเนินโครงการที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นนโยบายเรือธงมีการขยับตลอดเวลา
“ขณะนี้ การดำเนินโครงการมาถึงจุดที่ประกาศว่า จะแจกเป็นเงินสดให้กับประชาชนกลุ่มเปาะปราง 14.5 ล้านคน เพียงเพิ่มกลุ่มคนพิการเข้ามา ถ้าเป็นแบบนี้ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ต่างอะไรจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่พวกตนได้ทำกันมา รูปแบบการแจกเงิน ก็ใช้ตามแนวทางเดิม ทำให้เห็นว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นโครงการที่สำเร็จ กระตุ้นกลุ่มเป้าหมายได้ดี ช่วยเหลือประชาชนได้จริง”
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตัวโครงการยังประเมินผลลัพธ์ไว้สูงมากว่าจะมีพายุหมุนทาง ศก.หลายรอบ แต่ท่ามกลาง ศก.แบบนี้ ต้องถามว่า เงินจากโครงการดิจิตอลวอลเล็ตจะสร้างพายุหมุนได้จริงกี่รอบสมเป็นโครงการเรือธงที่รัฐบาลคาดหวัง นอกจากนั้นที่มาของงบประมาณในการดำเนินโครงการ ก็ได้มีการดึงงบจากหลายส่วนมาทำโครงการนี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะไปกระทบกับการจัดบริการสาธารณะหรือโครงการใหญ่อื่นๆ ที่ต้องใช้งบประมาณ ในประเด็นสุดท้ายคือมีประชาชนไปลงทะเบียนโครงการนี้ 36 ล้านคน แต่จะแจกจริงผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแค่ 14.5 ล้านคน ทั้งยังไม่มีความชัดเจนของทามไลน์ที่จะแจกรุ่นต่อไป รัฐบาลจะเยียวยา จะดูแล หรือจะรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้อย่างไร นี่เป็นคำถามใหญ่ที่อยากฝากไว้
ด้านนายธีระชัย อดีตรัฐมนตรีคลัง กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐที่นำเอากองทุนวายุภักษ์ เพื่อระดมทุนนั้น เป็นการใช้นโยบายอุ้มคนมีเงิน สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมและมีความเสี่ยงผิดกฎหมาย ตนขอเตือนว่าการระดมเงินแล้วไปเก็งกำไร ทั้งในตลาดหลักทรัพย์(ตลท.) และนอกตลาดหลักทรัพย์ ทั้งทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกู้เครดิตต่ำ (junk bond) ฯลฯ ที่ไม่ใช่กิจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเสี่ยงผิดกฎหมาย
“ตนเองได้มีหนังสือ 4 ฉบับเสนอแนะให้นายกฯ แพทองธาร ชินวัตรทบทวน เพราะมีปัญหา 2 ด้าน คือก่อปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นการรอนสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ สิทธิของข้าราชการ และสิทธิของผู้ใช้แรงงานไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และยังอาจมีปัญหาคนต่างชาติใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินีเพื่อแสวงหาประโยชน์อีกด้วย นอกจากนี้ มีความเสี่ยงผิดกฎหมาย กรณีหากมีผู้ใดฟ้องศาลให้ระงับเงื่อนไข ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนรายใหม่ได้รับความเสียหาย รัฐมนตรีคลังอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง“ นายธีรชัยกล่าว
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 กันยายน 2567