“สส.อัคร”ถาม รัฐบาลมีแผนบริหารจัดการน้ำ แก้วิกฤตน้ำท่วม-ภัยแล้ง จ.เพชรบูรณ์ อย่างไร ชี้ ที่ผ่านมาระบบยังไม่ดีพอ แถมน้ำประปายังไม่พอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา ฯ นายนายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำในจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างเป็นระบบว่า ตนได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนและได้พบว่า ปัญหาหลักของเพชรบูรณ์คือ ระบบการจัดการน้ำ ซึ่งประสิทธิภาพยังไม่ดีพอที่จะรองรับต่อการใช้งานได้อย่างทั่วถึงในอีกหลาย ๆ พื้นที่ของจังหวัด ปัญหาการขาดแคลนน้ำนับเป็นสิ่งที่เร่งด่วนและสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
นายอัคร กล่าวต่อว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้ปริมาณของน้ำฝนที่ตกนั้นไม่แน่นอน และยากต่อการคาดเดา บางปีฝนตกน้อยก็เกิดภัยแล้ง บางปีฝนตกหนักก็น้ำท่วม ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกร แม้ว่าเพชรบูรณ์จะมีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 11 แห่ง แต่กลับไม่เพียงพอ แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องของปริมาณน้ำในอ่างต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น อำเภอวิเชียรบุรีและศรีเทพ มีประชากรเกือบๆ 200,000 คนซึ่งคิดเป็นประมาณเกือบ 20% จากประชากรทั้งจังหวัด แต่กลับมีเพียง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางห้วยเล็งเพียงที่เดียว ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอที่จะไปเพาะปลูกพืชผล และในปี 2566 อำเภอวิเชียรบุรีมีพืชผลเสียหายกว่า 1,000 ไร่ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ชาวบ้านเดือดร้อนมาก
นายอัคร กล่าวต่ออีกว่า ตนยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน หมู่ 13 ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ ว่า น้ำประปาไม่ไหลและไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แถมน้ำที่ใช้ได้กลับเป็นน้ำสกปรก มีกลิ่นเหม็น และมีสีแดงขุ่น ตนคิดว่า ควรหาทางแก้สำหรับเรื่องนี้ และนี่เป็นเพียงแค่ปัญหาภัยแล้งในเพชรบูรณ์ ยังไม่รวมถึงปัญหา อุทกภัยที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ ช่วงทางน้ำผ่าน หรือขนาดของลำน้ำป่าสักที่แคบและตื้น ทำให้รองรับน้ำได้อย่างจำกัด ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม
โดยในปี 2565 เกิดฝนตกหนักในจังหวัด พื้นที่อำเภอวิเชียรบุรีและศรีเทพ มีน้ำท่วมขัง สูงถึง 150 เซนติเมตร ประชาชนในหลายตำบลได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ทรัพย์สิน หรือพืชผล
ทางการเกษตร เราได้เรียนรู้มากมายจากภัยธรรมชาติที่เกิดในอดีต ปัจจุบัน เราควรนำมาถอดบทเรียน เพื่อวางแผนการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบสำหรับอนาคตของเพชรบูรณ์
”ผมจึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีแผนบริหารจัดการน้ำรวมถึงแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการบรรเทาอุทกภัยและบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร รวมถึงความก้าวหน้าโครงการฝายยางบ้านท่า ในอำเภอศรีเทพ อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว สุดท้าย ผมขอให้จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน“
ต่อมา รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ตอบคำถามของนายอัคร โดยชี้แจงถึงความคืบหน้าโครงการฝายทั้ง 2 แห่งว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการจะแล้วเสร็จช่วงปี 2568-2570 ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภค และเกษตรกรจะมีน้ำใช้ในการเพาะปลูก
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 19 กันยายน 2567