โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: ข่าวกิจกรรม

“รมว.ธรรมนัส” ร่วมนายกฯลงพื้นที่ กาญจนบุรี แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนสร้างความมั่นคงในชีวิตปชช.

,

“รมว.ธรรมนัส” ร่วมนายกฯลงพื้นที่ กาญจนบุรี แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนสร้างความมั่นคงในชีวิตปชช.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ณ จุดรวมพลอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ยาเสพติด จัดสรรพื้นที่ทำกิน ค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงราคาสินค้าเกษตร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ารัฐบาลจะทำงานแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินชมนิทรรศการสินค้า OTOP สินค้าวิสาหกิจชุมชน อาทิ น้ำอินทผลัมบาฮีผลสด เต่งเชียงปลายี่สก น้ำแกงส้มปรุงสำเร็จ ขนมกล้วยน้ำว้าแปรรูปบานาน่า ขนมทองโย๊ะหรือหมี่สิ รวมถึงคูหาจัดแสดงอัญมณีของจังหวัด (พลอย และนิล) ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งรับฟังการนำเสนอแนวทางแก้ไขสำหรับการพัฒนาจังหวัด อาทิ แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนโดยบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำ One Map การเร่งรัดพิจารณาการจัดสรรที่ดินที่ไม่ได้ใช้งานให้เกษตรกร เร่งช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อปี 2547 และขอผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เป็นต้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับข้อเสนอของทางจังหวัด และมอบหมายให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจาความร่วมมือกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนและดำเนินการจัดทำ One Map ร่วมกับกรมแผนที่ทหาร
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว และได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวสนใจเที่ยวเมืองรอง เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 และมีศักยภาพหลายด้าน สามารถยกระดับเป็นเมืองถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลกได้อีกด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 ธันวาคม 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นำทีมประชุม COP 28 ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกสู่เป้าหมายฟื้นฟูภูมิอากาศ ร่วมรักษ์โลก รักษ์ประเทศไทย

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นำทีมประชุม COP 28ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกสู่เป้าหมายฟื้นฟูภูมิอากาศ ร่วมรักษ์โลก รักษ์ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณรอง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เดินทางไปยังเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 12 ธ.ค. 2566

โดย พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวก่อนการร่วมประชุมว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะรัฐภาคีมาตลอดทุกปี นอกจากในฐานะประชาคมโลกแล้ว ยังเป็นการทำเพื่อสร้างประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงรับสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการให้ความรู้ในเชิงบวกถึงการทำงานของประเทศไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยายโอกาสการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยีและวิชาการ

ประเด็นสำคัญของการประชุมในปีนี้ ประกอบด้วย การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าสามารถบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสมากน้อยเพียงใด รวมถึงการวิเคราะห์ช่องว่าง ที่ต้องการให้ภาคีจะต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนาขอให้เร่งระดมเงินให้ได้ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้ รวมถึงการตั้งกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดหวังที่จะให้ได้ข้อสรุปร่วมกันในการประชุมครั้งนี้

“ผมเชื่อว่า การประชุม COP28 จะมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จตามที่ประชาคมโลกคาดหวัง โดยเราจะสนับสนุนเต็มที่ในฐานะประชาคมโลก และ เร่งดำเนินการปรับตัวภายในประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ธันวาคม 2566

รมว.ธรรมนัส พร้อมยกระดับ “ไหมไทย” เพิ่มมูลค่า สู่ Soft Power ร่วมงาน กรมหม่อนไหม ครบรอบ 14 ปี สืบสานภูมิปัญญสู่ความยั่งยืน

,

รมว.ธรรมนัส พร้อมยกระดับ “ไหมไทย” เพิ่มมูลค่า สู่ Soft Power ร่วมงาน กรมหม่อนไหม ครบรอบ 14 ปี สืบสานภูมิปัญญสู่ความยั่งยืน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน
วันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี “14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 ธันวาคม 2566 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ กรมหม่อนไหม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อันนำมาสู่การสถาปนา กรมหม่อนไหมขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริม วิจัย และพัฒนาหม่อนไหมทั้งระบบ รวมถึงการอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรม
ภูมิปัญญาไหม ให้คงอยู่คู่ประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม ครบรอบ 14 ปี ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ รวมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและภารกิจสำคัญของกรมหม่อนไหมที่ดำเนินงานต่อไปในอนาคต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานภายใต้ภารกิจสำคัญเพื่อทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี และนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้การตลาดนำการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาสินค้าผ้าไหมไทยให้เป็นที่ยอมรับมุ่งสู่ Soft Power ของไทย
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยด้านหม่อนไหม พร้อมแสดงความยินดีถึงต้นแบบในการดำเนินการพัฒนางานด้านหม่อนไหม รวมทั้งมีส่วนช่วยเหลืองานด้านหม่อนไหมทั้งในระดับดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของกรมหม่อนไหม แนวทางการยกระดับ “หม่อนไหมพะเยา” สู่ความยั่งยืน การยกระดับผลิตภัณฑ์หม่อนไหมรองรับ BCG Model ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดหนองบัวลำภู (ผ้าหมี่สลับขิด) การพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน ด้วยภูมิปัญญาโดยใช้เส้นไหมไทย เทคโนโลยีพันธุ์ไหมที่เหมาะสมแก่การผลิตผ้าห่มใยไหม
การผลิตเส้นไหมไทยสาวมือ มกษ.5900-2565 Buriram Model และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมระบบแปลงใหญ่ เป็นต้น รวมถึงภายในงานมีการจัดจำหน่ายผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ธันวาคม 2566

“พัชรวาท” เด้งรับทันที ชงครม.สัญจร แก้ปัญหาน้ำให้คนท่าบ่อหนองคาย หลังรับฟังปัญหาความเดือดร้อน ลั่นเป้าหมายสำคัญประชาชน ต้องอยู่ดีกินดี

,

“พัชรวาท” เด้งรับทันที ชงครม.สัญจร แก้ปัญหาน้ำให้คนท่าบ่อหนองคาย หลังรับฟังปัญหาความเดือดร้อน ลั่นเป้าหมายสำคัญประชาชน ต้องอยู่ดีกินดี

ที่หนองคาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการเทศบาลเมืองท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ก่อนร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งแรก ที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และรับข้อเสนอโครงการจัดหาน้ำบาดาล โดยมีนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวต้อนรับ

จากนั้นนายกิตติศักดิ์ วรรณวิเชษฐ์ นายเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ กล่าวรายงานความเดือดร้อนในพื้นที่ว่า เนื่องจากเทศบาเมืองท่าบ่อ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีจำนวนประชากร มาใช้บริการในเขตพื้นที่มากกว่า 30,000 คน และระบบประปาใช้งานมาแล้วกว่า 33 ปี มีสภาพชำรุด มีปริมาณความจุ 1,500 ลูกบาศก์เมตร แต่มีจำนวนประชากรที่ต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นปริมาณ 2,547 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงส่งผลให้พื้นที่เทศบาลเมืองท่าบ่อไม่สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพให้บริการได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนได้ ขณะเดียวกันยังมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และชุมชนโดยรอบ ก็ยังขาดแคลนน้ำประปา จึงอยากขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงฯ

นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กล่าวว่า ตามที่นายกเทศมนตรี กล่าวถึงปัญหาทางกรมฯส่งเจ้าหน้าที่มาดูแนวทางการแก้ไขปัญหา ใน 3 แห่ง เพื่อดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม

จากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวทักทายประชาชนว่า หลังจากที่ได้รับฟังปัญหาจากนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองท่าบ่อ ว่าพ่อแม่พี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์ และจากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้นำเสนอ ตนจะรีบนำโครงการนี้ให้ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดหนองบัวลำภูในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) ได้พิจารณาอนุมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยเร่งด่วน รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ประชาชนอยู่ดี กินดี อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการเกษตร

ภายหลังเสร็จสิ้น พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เดินทางพบปะ ทักทายและถ่ายภาพร่วมกับประชาชนที่เดินทางมาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง รวมถึงมีชาวบ้านมาผูกผ้าขาวผ้าให้ด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 3 ธันวาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่บึงกาฬ มอบนโยบายส่งเสริมผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพ มุ่งเพิ่มผลผลิตสร้างราคาต่อไร่เพิ่มรายได้เกษตรยั่งยืน

,

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่บึงกาฬ มอบนโยบายส่งเสริมผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพ มุ่งเพิ่มผลผลิตสร้างราคาต่อไร่เพิ่มรายได้เกษตรยั่งยืน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมการดำเนินการของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬ ณ ต.ดอนหญ้านาง อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร โดยเป็นศูนย์บริการร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้สามารถติดต่อสอบถามขอทราบข้อมูลด้านข้าว ดำเนินกิจกรรมในเรื่อง 1) การผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวสู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างการผลิตข้าวคุณภาพดี สร้างความเข็มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้โครงการและกิจกรรมของกรมการข้าว รวมถึงส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และควบคุม กำกับการใช้และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพและไม่ผ่านการรับรอง โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ กข22 พันธุ์ กข6 และพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 เป้าหมายการผลิตปี 2566 จำนวน 1,900,000 กิโลกรัม และ 2) เป็นโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งสามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ดีให้แก่กษตรกรในจังหวัดบึงกาฬได้ 3,814 ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 39,624 ไร่ จำนวนเมล็ดพันธุ์ 578,000 กิโลกรัม ทั้งนี้ ในอนาคตมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จากเดิม 1,900,000 กิโลกรัม เป็น 2,500,000 กิโลกรัม ภายในปี 2569 เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวและส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พร้อมทั้งการผลิตข้าวคุณภาพดี และการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว มีแนวทางในการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้คุณภาพ โดยในพื้นที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ มีศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวนหลายพันธุ์ อาทิ ข่าวเหนียวพันธุ์ กข 22 ผลผลิตเฉลี่ย 684 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวเจ้าคุณภาพพิเศษ พันธุ์ กข83 (มะลิดำหนองคาย 62) ผลผลิตเฉลี่ย 640 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงเมล็ดข้าวพันธุ์ดี จะทำให้ชาวนามีผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 3 ธันวาคม 2566

“สันติ รมช.สธ.” ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี หนุนยกระดับงานวิจัย พัฒนา อสม. ดูแลสุขอนามัยในท้องถิ่น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน

,

“สันติ รมช.สธ.” ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี หนุนยกระดับงานวิจัย พัฒนา อสม. ดูแลสุขอนามัยในท้องถิ่น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พร้อมเปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน เพื่อให้ผู้บริหารและนักวิชาการภาครัฐ ภาคเอกชนโดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์กับเครือข่ายในพื้นที่
โดยมีนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และพี่น้องชาว
อสม.จำนวน 800 คน รวมพลังร้องเพลงมาร์ช อสม.ให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่น พร้อมเยี่ยมชมบูธจัดแสดงผลงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ ศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์
การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี

นายสันติ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานทางวิชาการ มีภารกิจสำคัญในการศึกษา การวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข และการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ สร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ

“ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบและป้องกันปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนา อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ที่ช่วยขับเคลื่อนการคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพกลุ่มเสี่ยง และสื่อสารแจ้งเตือนภัยสุขภาพ เกิดนวัตกรรมใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมศักยภาพการบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภค และงานป้องกันโรค ให้กับประชาชนในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง”

ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน ที่เข้ามารับผิดชอบงานของกระทรวงสาธารณสุข วันนี้มีความรู้สึกอบอุ่นที่ได้มา จ.อุดรธานีอีกครั้งและเน้นย้ำความสำคัญกับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ที่มีจิตอาสามาทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำให้โรคอุบัติภัย และโรคระบาดต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่นได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

โดย อสม.มีส่วนสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงกับบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ไปยังพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน และตำบลได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลพี่น้องประชาชนเบื้องต้น ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ยังไม่มีแพทย์มาประจำแต่ยังมี อสม.เข้ามาช่วยงานแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมี รพ.สต.กว่า 10,000 แห่ง ควรมีแพทย์อย่างต่ำ 3 คน จะเรื่องนี้จะขอให้มหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันผลิตแพทย์ ประมาณ 30,000 คน ซึ่งถ้าเริ่มผลิตแพทย์วันนี้จะต้องใช้เวลา 6 ปี จะได้แพทย์คนแรกไปอยู่รพ.สต. และหากจะได้แพทย์ที่ครบทั้ง 30,000 คน คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 12 ปี

“ผมเป็นผู้แทนมาเกือบ 30 ปีได้เห็นเรื่องสาธารณสุขในแต่ละท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งปัจจุบันระบบการแพทย์ของไทยถือว่าดีมากติดอันดับต้นๆของโลก ดังนั้นการมีแพทย์ที่ รพ.สต. จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญในการลดต้นทุนไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้มาก โดยพี่น้องประชาชนมี 67 ล้านคน หากไปโรงพยาบาลที่อำเภอ 1 ครั้งต่อปี รวมค่าเดินทั้งประเทศประมาณ แสนกว่าล้านบาทต่อปี และถ้าเฉลี่ยไปโรงพยาบาล 2 ครั้งต่อปีก็ใช้เงินถึงเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อปี แต่การผลิตแพทย์ 1 คนใช้เงินเฉลี่ย 5 ล้านบาท ในเวลา 6 ปีถ้าผลิตแพทย์ 30,000 คน ใช้เงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนตรงนี้จะช่วยเหลือพี่น้องในชนบทได้” นายสันติ กล่าว

การแพทย์แผนปัจจุบันมีความสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 150 ปี จนต่างประเทศให้ความมั่นใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ซึ่งทราบว่า ต่างประเทศอยากได้บุคลากรทางการแพทย์ หากในประเทศมีบุคลากรทางการแพมย์ที่เพียงพอแล้ว แพทย์ก็จะสามารถไปทำงานต่างประเทศได้

ทั้งนี้ในช่วงบ่าย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะเพื่อตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 โดยจุดแรก ลงพื้นที่บ้านภูดินทอง หมู่ 13 ต.กุดดินจี่ อ.นากลาง เพื่อพบปะ อสม.และผู้นำชุมชนและรับฟังผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment: CBITX) จากนั้นจะเดินทางโรงพยาบาลสุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา ชมการดำเนินงาน มะเร็งครบวงจร และการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี (OV CCA และตรวจเยี่ยมมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลสุวรรณคูหา)

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 3 ธันวาคม 2566

กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯเพชรบูรณ์ ยื่นหนังสือผ่าน”สส.วรโชติ“หลังราคาตกต่ำ วอน รัฐบาลช่วยสนับสนุนต้นทุนการผลิต

,

กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯเพชรบูรณ์ ยื่นหนังสือผ่าน “สส.วรโชติ” หลังราคาตกต่ำ วอน รัฐบาลช่วยสนับสนุนต้นทุนการผลิต

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์ เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจากนายถาวร จงวัฒน์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องด้วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประสบปัญหาเรื่องราคาข้าวโพดตกต่ำ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.522,844 ไร่ และจังหวัดเพชรบูรณ์มีการเพาะปลูกจำนวน 24,222 ครัวเรือน 34,448 แปลง 505,311 ไร่ ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวโพดตกต่ำ ซึ่งช่วงฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา และช่วงผลผลิตที่ออกมายังมีจำนวนมากในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน

“ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำมาก จนเป็นที่ผิดสังเกต โดยราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ความชื้น 30% ราคา 5บาท/กก. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิต ซึ่งเป็นราคาเกษตรกรไม่สามารถที่ยอมรับได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตไม่
คุ้มกับราคาที่จำหน่ายผลผลิต และที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเจอปัญหาฝนทิ้งช่วง แมลงทำลายต้นอ่อน ทำให้เกิดความเสียหาย ผลผลิตลดลง และราคาปุ๋ยก็ยังมีราคาสูง”

นายวรโชติ กล่าวต่อว่า กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนต้นทุนการผลิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 20 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่อจะได้ช่วยเหลือการลงทุนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาเบื้องต้น

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 2 ธันวาคม 2566

“พล.ต.อ. พัชรวาท” ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ “วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ”

,

“พล.ต.อ. พัชรวาท” ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลรัชกาลที่ 9
เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ “วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ”

วันนี้ (1 ธันวาคม 2566) เวลา 08.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส. นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นายนพดล พลเสน เลขานุการ รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 เพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติ พระบาทสทเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จากนั้น ได้นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 10 รูป จากวัดสร้อยทอง ณ บริเวณโถงด้านในอาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 ธันวาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส“ เปิดปฏิบัติการ”พญานาคราช” ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รักษาประโยชน์เกษตรกรไทย

,

“รมว.ธรรมนัส“ เปิดปฏิบัติการ”พญานาคราช” ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รักษาประโยชน์เกษตรกรไทย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดงานดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจัดขึ้น เพื่อประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยภายในงานมีการมอบธงและปล่อยขบวนชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ได้แก่ พญานาคราช (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ฉลามขาว (กรมประมง) พญาไท (กรมปศุสัตว์) สารวัตรเกษตร (กรมวิชาการเกษตร) ออกปฏิบัติการฯ พร้อมเปิดทุกกระบวนการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมง ตั้งแต่การ X-Ray ตู้สินค้าประมงนำเข้าเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบสินค้าภายในตู้ และการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้า ตลอดจนนำเสนอนิทรรศการกระบวนการตรวจสินค้าเกษตรนำเข้า (พืช ประมง ปศุสัตว์) ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง
“ต่อจากนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” จะดำเนินการตรวจสอบสินค้าภาคการเกษตรทุกประเภทที่นำเข้าสู่ราชอาณาจักรแบบผิดกฎหมาย ที่ไม่ผ่านขั้นตอนของศุลกากร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร โดยจะใช้ชุดปฏิบัติการนี้ในการป้องกัน ปราบปราม ตรวจยึด และดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายผมและท่านไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งจะเห็นการปราบปรามอย่างจริงจังภายใต้การทำงานของทั้ง 4 หน่วยงาน ที่สามารถเข้าตรวจค้นได้ทุกที่โดยไม่ต้องขอหมายศาล” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (พญานาคราช) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร จำนวนกว่า 70 นาย เพื่อร่วมบูรณาการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการในการขับเคลื่อนการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยชุดปฏิบัติการพญานาคราช ภายใต้การกำกับดูแลและขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เสริมทัพความเข้มแข็งให้กับชุดปฏิบัติการพิเศษ (เดิม) ของกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และต้องมีการรายงานผลการทำงานให้รัฐมนตรีฯ ทราบทุก 15 วัน

สำหรับในปี 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตประมงที่ได้จากการจับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงทั้งหมด 2.39 ล้านตัน และมีการนำเข้าสินค้าประมงปริมาณ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 158,431 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณ 808,539 ตัน ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 727,709 ตัน หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 182,049 ตัน เพื่อบริโภคภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าประมงรวม 1.60 ล้านตัน มูลค่า 229,123 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง 76,633 ล้านบาท กุ้งและผลิตภัณฑ์ 52,623 ล้านบาท อาหารแมวและสุนัขกระป๋อง 18,063 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจสินค้า พบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 คดีในปี 2565 และพบการกระทำผิด 9 คดี ในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 66) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทุกหน่วยงานพร้อมยกระดับการปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรอย่างเข้มแข็ง โดยในส่วนของสินค้าประมงได้สั่งการให้ทุกด่านตรวจประมงเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด เปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศเสี่ยงสูง 100 % (จากเดิมจะเปิดตรวจ 30%) โดยได้กำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ (1) การเปิดตรวจ ณ ด่าน หรือ ท่าเทียบเรือ และ (2) การตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) ด้วยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อควบคุมและตรวจสอบคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้าจริงตรงตามที่สำแดงในเอกสารจนมั่นใจว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิตหรือจำหน่ายต่อไป รวมถึงจะมีการบูรณาการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ปปง. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำสินค้าทุกชนิดเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย กรมประมงจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงสถานที่เก็บรักษา กรมประมงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการห้องเย็นเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ยังไม่ได้แจ้งการประกอบกิจการต่อกรมประมง ให้มาแจ้งต่อกรมประมง ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือประมงอำเภอในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดขอความร่วมมือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมประมง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 ธันวาคม 2566

“สส. จีรเดช” ขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนา หลังอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ที่ทางรัฐบาลได้ผลักดันนโยบาย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นจากปัญหาความยากจน

“สส. จีรเดช” ขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนา หลังอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ที่ทางรัฐบาลได้ผลักดันนโยบาย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นจากปัญหาความยากจน

นายจีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย ที่มีผลตั้งแต่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ของรัฐบาลว่า ตนได้ไปร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องเกษตรกรชาวนา ที่ได้รับเงินสนับสนุนพัฒนาคุณภาพข้าวหรือที่เราเรียกกันว่า ”เงินส่วนต่าง” ไร่ละ 1,000 จากรัฐบาล ซึ่งผมได้อภิปรายทวงถามเป็นประจำทุกปี ตนต้องขอขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนาทั้งประเทศ ที่รัฐบาลเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา พรรคพลังประชารัฐ ขอสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นนโยบายที่ดี ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับชาวนา เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย หรือยาฆ่าหญ้า

“ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นครอบครัวที่มาจากชาวบ้านหลานหลานชาวนา พร้อมช่วยเหลือผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ และยังมีอีกหลายนโยบายที่กำลังดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรไทยได้ลืมตาอ้าปาก พ้นจากปัญหาความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2566

สันติ รมช.สธ.หนุนศักยภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผุดไอเดียสร้างเมืองสมุนไพรสร้างรายได้ Soft Power สู่ท้องถิ่น

สันติ รมช.สธ.หนุนศักยภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผุดไอเดียสร้างเมืองสมุนไพรสร้างรายได้ Soft Power สู่ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อสารนโยบายมุ่งเน้น และการมอบนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมอบใบประกาศให้กับผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี

นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับ 30 บาท เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการแก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายมุ่งเน้น 13 ประเด็น เกี่ยวข้องกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 6 ประเด็น ได้แก่ โครงการพระราชดำริ สุขภาพจิต/ยาเสพติด การแพทย์ปฐมภูมิ สถานชีวาภิบาล ดิจิทัลสุขภาพ และเศรษฐกิจสุขภาพ โดยประเทศไทยมีความโดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว จึงส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพเห็นได้จากช่วงสถานการณ์โควิด 19 คนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย และสมุนไพรมากขึ้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ เช่น ส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพ

“การนวดแผนไทย ถือเป็นการนวดเพื่อบำบัดโรคต่างๆ ทั้งการนวดคลายเส้น นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และยังมีส่วนสร้างงานสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการนวดแผนไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และแต่ละประเทศก็ต้องการแรงงานนวดแผนไทยจำนวนมาก ขณะที่เรื่องสมุนไพร ส่วนใหญ่เป็นอาหารไทยเพื่อสุขภาพ อาหารเป็นยาของไทยเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงทานแล้ว สามารถที่จะเป็นยาในชีวิตประจำวันได้ด้วย อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities” นายสันติ กล่าว

การนวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ และผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ทั้งในภาครัฐและเอกชน อาหารไทย เป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารสูงถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 และในเดือนธันวาคม 2566 นี้ กำลังจะมีงาน Kick off มหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพที่จังหวัดเพชรบูรณ์

นายสันติ กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ สมุนไพรไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ประกาศ “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีการวางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ กลุ่มที่ 2 คือ สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ กระชาย มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต ในการขับเคลื่อนพัฒนา

ทั้งนี้มีแนวคิดที่จะเข้าไปพัฒนาเป็นเมืองสมุนไพร ในพื้นที่ชนบท ขเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมเพาะปลูกพืชสมุนไพร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน หลายจังหวัดได้มีการพัฒนาต่อยอดพืช/สมุนไพร ให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้และกระจายสู่ภูมิภาคแต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุน ปกป้อง คุ้มครอง ภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย ให้คงอยู่อย่างทรงคุณค่าและยั่งยืน นำมาต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน”

นายสันติ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีความตั้งใจ ที่จะสนับสนุนให้สมุนไพร ทั้งพืชสมุนไพรที่ค้นพบแล้ว และที่ยังไม่ได้ค้นพบ ในแต่ละชนิดที่มีจำนวนอีกมากนำมาวิจัยเพื่อใช้ในการรักษาโรค นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะให้กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมกับวัดโพธิ์ จัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยเปิดสอนการนวด เพื่อสุขภาพเมื่อเรียนจบก็จะได้รับใบประกาศและการรับรอง ก็จะเกิดความน่าเชื่อถือทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้รักษาบริการ สิ่งเหล่านี้จะเป็น Soft Power ที่มีความสำคัญ หากไปต่างประเทศก็จะมีรายได้เดือนละแสน ก็เป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2566

“ส.ส.อัครแสนคีรี” เสนอ รมว.เกษตร ผลักดันโครงการ 500 ตำบลต้นแบบ ในพื้นที่จ.ชัยภูมิ เพื่อยกระดับรายได้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน

,

“ส.ส.อัครแสนคีรี” เสนอ รมว.เกษตร ผลักดันโครงการ 500 ตำบลต้นแบบ ในพื้นที่จ.ชัยภูมิ เพื่อยกระดับรายได้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะกับตัวแทนของพี่น้องเกษตรกรจาก อ.คอนสวรรค์ อ.แก้งคร้อ และพื้นที่ต.ซับสีทองและต.ท่าหินโงม ซึ่งได้สะท้อนภาพรวมของปัญหาด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ชลประทาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ โดย ร.อ.ธรรมนัส ได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ รวมถึงให้เร่งรัดโครงการต่างๆในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ อ่านช่องสามหมอ โครงการลำน้ำกล่ำ และโครงการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตรปศุสัตว์ ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับปัญหาของพี่น้องประชาชน

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่คือ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก อยู่ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงลาดชั้น ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแลเงได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำไว้รองรับ โดยเราได้นำเสนอต่อรัฐมนตรี ให้ช่วยผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระยะกลาง และระยะยาวในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ นอกจากนี้จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย จึงเสนอให้รัฐมนตรีมีการนำโครงการซื้อพันธุ์ข้าวในราคาถูกช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และต้นทุนการผลิตของเกษตรกร พร้อมทั้งการส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากตลาดมีความนิยมส่งผลให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสูงกว่าราคาพืชเกษตรทั่วไป

“เกษตรกรชาวชัยภูมิยังได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯพิจารณาผลักดันและคัดเลือกพื้นที่จ.ชัยภูมิ จำนวน 22 ตำบลเข้าสู่“โครงการ 500 ตำบลต้นแบบ”เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพราะพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีความเหมาะสมที่จะขับเคลื่อนโครงการให้สัมฤทธิ์ผลได้อย่างแน่นอน” นายอัครแสนคีรี กล่าว

นายอัครแสนคีรี ยังกล่าวต่อถึงปัญหาด้านปศุสัตว์ ที่ราคาวัวไทยตกต่ำอย่างมาก เป็นผลมาจากการห้ามนำเข้าของจีนที่มีการตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงเมื่อปี 2018 จึงอยากให้รัฐมนตรีมีการเจรจากับจีนและประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้ยอมรับสินค้าของไทย และมีมาตรการการตรวจสินค้า เพื่อความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกลับประเทศผู้ซื้อหรือผู้นำเข้า

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2566