โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: กิจกรรม ส.ส. และสมาชิก

“วิว-กุลวุฒิ” คว่ำ“ลีซิเจีย“ ทะลุชิงเหรียญทองโอลิมปิก 2024 เติมความสุขให้คนไทย พล.อ.ประวิตร ตามเชียร์ขอบสนาม ภูมิใจสุดๆ วิวเลือดนักสู้

,

“วิว-กุลวุฒิ” คว่ำ“ลีซิเจีย“ ทะลุชิงเหรียญทองโอลิมปิก 2024 เติมความสุขให้คนไทย พล.อ.ประวิตร ตามเชียร์ขอบสนาม ภูมิใจสุดๆ วิวเลือดนักสู้

เมื่อ 4 ส.ค.67 ,15.50น. (เวลาประเทศไทย) มีการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน ประเภทชายเดี่ยว รอบรองชนะเลิศ รายการโอลิมปิก ปารีส-2024 ณ สนามกีฬา Porte de La Chapella Arena กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส น้องวิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ พบกับ Lee Zii Jia นักแบดมินตัน มืออันดับ 7 ของโลก จากประเทศมาเลเซีย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายธนา ไชยประสิทธิ์ รองประธานฯและหัวหน้านักกีฬา ,นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตฯและภริยา, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล คณะกรรมการไอโอซี และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ,พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ และพล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ได้เดินทางมาชมการแข่งขัน และให้กำลังใจน้องวิว ต่อเนื่องเพื่อติดตามผลงานจากแมตช์ก่อนหน้าที่น้องวิวสามารถเอาชนะนักแบดมินตัน มือหนึ่งของจีนมาได้อย่างเด็ดขาด 2เซ็ทรวด สำหรับนัดนี้ หากน้องวิว เอาชนะคู่ต่อสู้จากมาเลเซีย จะทำให้ได้เข้าชิงเหรียญทองทันที ซึ่งในวันนี้ พล.อ.ประวิตร และคณะได้เข้าชมการแข่งขัน เกาะขอบสนามด้วยความตื่นเต้น และเต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจที่จะมอบให้น้องวิว อีกแมตช์ เพราะเป็นแมตช์ที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุขและ ภาคภูมิใจอีกครั้ง ซึ่งน้องวิว ก็ทำได้ตามที่คาดหวังสามารถเอาชนะนักตบลูกขนไก่จากมาเลเซีย ได้อย่างขาดลอย 2เซ็ตรวด ด้วยเลือดนักสู้ของคนไทยอย่างแท้จริง ที่ทำให้ผู้ชมในสนามแข่งขันและทั่วโลกเห็นถึงความมุ่งมั่น ความสามารถ และความแข็งแกร่งของนักกีฬาทีมชาติไทย ในวันนี้

พล.อ.ประวิตร ได้ส่งเสียงเชียร์พร้อมปรบมือให้กำลังใจ ตลอดเวลาที่ชมการแข่งขันของน้องวิว ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงเชียร์ของแต่ละฝ่ายในสนามเนื่องจากเป็นนัดตัดเชือก ก่อนชิงชนะเลิศ ซึ่งกำลังใจของนักกีฬาสำคัญมาก ทั้งจากกองเชียร์ในสนามและนอกสนามของคนไทยที่รับชมทางทีวีถ่ายทอดสด จากประเทศไทย กระทั่งน้องวิว ได้รับชัยชนะในที่สุด ด้วยสกอร์ 21:14 และ 21:15 สามารถเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่น้องวิว พร้อมด้วยทีมสตาฟโค้ช และสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ที่ได้ร่วมกันสร้างผลงานอันล้ำค่าให้กับคนไทยได้ชื่นชมและมีความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งตนจะติดตามและให้กำลังใจอีกความสำเร็จของน้องวิว ในแมตช์สำคัญต่อไปด้วย

ภายหลัง เสร็จสิ้นการแข่งขัน พล.อ.ประวิตร ได้พบกับน้องวิวและได้กล่าวแสดงความยินดีอีกครั้ง ที่น้องวิวสามารถนำชัยชนะมาให้คนไทยทั้งประเทศได้สำเร็จซึ่ง พล.อ.ประวิตร จะได้ติดตามผลงานและเป็นกำลังใจให้น้องวิวประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในแมตช์ชิง ต่อไป

 

 

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 สิงหาคม 2567

บิ๊กป้อม ชื่นชม กุลวุฒิ เข้าตัดเชือก ปัดตอบคำถามทัพไทยจะได้กี่เหรียญ

,

บิ๊กป้อม ชื่นชม กุลวุฒิ เข้าตัดเชือก ปัดตอบคำถามทัพไทยจะได้กี่เหรียญ

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่เดินทางมายังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมเชียร์นักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ของไทย และเข้ามาชมการแข่งขันแมตช์ที่ “วิว”​ กุลวุฒิ วิทิตศานต์​ นักแบดมินตัน มือ 8 ของโลก ระเบิดฟอร์ม โค่น ฉี ยู่ฉี มือ 1 ของโลก จากจีน 2-0 เกม พร้อมกับผ่านเข้ารอบตัดเชือกแบดมินตัน ชายเดี่ยว โอลิมปิกเกมส์​ 2024 ได้ออกมากล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมชื่นชม กุลวุฒิ หลังจบแมตช์การแข่งขันกับผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ ”บิ๊กป้อม”​ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ”ตนต้องแสดงความดีใจกับ วิว ด้วย ที่สามารถเอาชนะนักกีฬามือ 1 ของโลก ได้ และอยากขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้วิวอีก 2 แมตช์​ เพื่อได้เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ต่อไป ต้องขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้กำลังใจกับน้องวิวครับ”​

เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าในกีฬาโอลิมปิกเกมส์​ 2024 ทัพนักกีฬาไทยจะได้กี่เหรียญในโอลิมปิกเกมส์รอบนี้ พลเอก ประวิตร ตอบกลับสั้นๆว่า “ผมยังไม่รู้หรอก แล้วผมจะรู้ได้ยังไง“​ ก่อนที่จะเดินหันหลังออกจากวงสัมภาษณ์ไปในทันที

ที่มา: มติชนออนไลน์… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/sport/olympic2024/news-olympic2024/news_4715461#google_vignette
วันที่: 2 สิงหาคม 2567

“สส.จำลอง” กระทุ้งกระทรวงพาณิชย์ ประกันราคามันสำปะหลัง 3 บาทต่อกก. แจงต้นทุนเกษตรกรยังถึงจุดไม่คุ้มทุน หวั่นผู้ปลูกมันฯรายได้ติดลบกระทบอาชีพ

,

“สส.จำลอง” กระทุ้งกระทรวงพาณิชย์ ประกันราคามันสำปะหลัง 3 บาทต่อกก.
แจงต้นทุนเกษตรกรยังถึงจุดไม่คุ้มทุน หวั่นผู้ปลูกมันฯรายได้ติดลบกระทบอาชีพ

นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงสถานการณ์ปัญหามันสำปะหลังว่า ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า ราคารับซื้อมันสำปะหลังตกต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยต้นทุนการผลิตของผู้ปลูกมันสำปะหลัง ไม่คุ้มกับราคาต้นทุน ปัจจุบันจังหวัดกาฬสินธุ์ราคามันสำปะหลังอยู่ที่ 1 บาทกว่า ไม่ถึง 2 บาท ซึ่งต้นทุนการผลิต จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 3 บาท เพราะต้องมีค่าไถ 750 บาทต่อไร่ ,ค่าพันธุ์ 500 บาทต่อไร่,ค่าปลูก 800 บาทต่อไร่,ค่าดายหญ้า 800 บาทต่อไร่,ค่าปุ๋ย ค่าแรง 1,100 บาทต่อไร่,ค่าไถกลบไถเบิก 500 บาทต่อไร่,ค่ารักษาโรคใบด่าง โรคใบหยิก 200 บาท,ค่าโดรนฉีดยาอีกไร่ละ 100 บาท,ค่าเก็บผลผลิตไร่ละ 600 บาท

นายจำลอง กล่าวต่อว่า ส่วนค่าเช่าที่ธนารักษ์สำคัญ ในพื้นที่ท้ายเขื่อนห้วยเม็กหนองกุงศรีท่าคันโท ที่อยู่ท้ายเขื่อนลำปาว ปีไหนที่น้ำหลาก เขาเก็บน้ำเยอะก็ปรากฏว่า น้ำท่วมแต่ไม่ได้รับการชดเชย เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลตระหนักว่า ถ้าพี่น้องเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอยู่ท้ายเขื่อนถูกน้ำท่วมก็ให้ชดเชยด้วย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายรวมเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 7,185. 65 บาท นี่คือต้นทุน ปัจจุบันนี้ถ้ากิโลละ 2 บาท ไร่ละประมาณ 3 ตันคิดเป็น 6,000 บาทจะติดลบอยู่ 1,185.65 บาท เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังติดลบ ส่งผลต่อผลผลิตเสียหาย

“ผมมีวิธีแก้ไขคือ ลดต้นทุนการผลิตและขอกราบเรียนนโยบายรัฐบาลที่แพลนออกมาว่าปุ๋ยขึ้นราคา จริงๆแล้วเป็นประโยชน์ เป็นการลดต้นทุนปุ๋ย ที่ผ่านมาปุ๋ยถุงละ 60 บาท ปัจจุบันนี้ถุงละ 1,000กว่าบาท รวมถึง ประกันราคามันสำปะหลังเกษตรกรผู้ปลูกมัน 3 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่ได้รับการชดเชยในการเช่าที่ธนารักษ์ ซึ่งควรจะชดเชยให้เขา เพราะธนารักษ์เอาค่าเช่ากับเขาไปแล้ว”นายจำลอง กล่าว

นายจำลอง กล่าวต่อว่า หากย้อนไปในอดีต ปัญหาราคาสำปะหลัง ถึงขั้นมีการปิดรัฐสภาที่ถนนอู่ทองใน เพราะพี่น้องเกษตรกรเกิดความเดือดร้อนจึงเกิดความวุ่นวาย จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือเยียวยาในการประกันราคามันสำปะหลังให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างน้อยกิโลกรัมละ 3 บาท ถึงจะมีกำไรและจุดคุ้มทุนอยู่ตรงนั้น

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 สิงหาคม 2567

“อัครแสนคีรี” เสนอการบริหารจัดการ “เขื่อนลำปะทาว” จ.ชัยภูมิ แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

,

“อัครแสนคีรี” เสนอการบริหารจัดการ “เขื่อนลำปะทาว” จ.ชัยภูมิ
แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเขื่อนลำปะทาว ทั้งเขื่อนบนและเขื่อนล่าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ในหลายจังหวัดได้เกิดวิกฤตน้ำท่วม เช่น จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวิกฤตน้ำท่วมในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และปีนี้คาดว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน 1 ในสาเหตุที่น้ำท่วมเทศบาลเมืองหนัก 3 ปีติดต่อกัน เกิดจากวิกฤตน้ำล้นเขื่อนลำปะทาวล่าง ผนวกกับน้ำที่ไหลมาจากอำเภออื่นๆ มาบรรจบกัน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า จากสถิติพบว่าช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้าเขื่อนบนราว 4-5.4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในส่วนของเขื่อนล่างน้ำจะไหลเข้าตั้งแต่ 1.69 ถึง 7.6 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำที่สามารถพร่องออกไปได้สูงสุดอยู่เพียงแค่ 3 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งที่จริงแล้วถ้าเราบริหารจัดการเขื่อนลำปะทาวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยบรรเทาเหตุน้ำท่วมในเทศบาลเมืองและยังเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่แห้งแล้ง เช่น อำเภอแก้งคร้อ

“ผมขอเสนอไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและกรมชลประทาน รวมถึงจังหวัดชัยภูมิ ควรจัดตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำเขื่อนลำปะทาว ร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อบริหารน้ำสำหรับการเกษตรแล้วก็อุปโภคบริโภครวมถึงการบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วมไม่ใช่แค่การผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเขื่อนล่างควรเร่งพร่องน้ำก่อนฤดูน้ำหลาก ควรติดตั้งระบบสูบจากเขื่อนล่าง ขึ้นเขื่อนบน โดยเมื่อน้ำใกล้ล้นเขื่อนล่างให้สูบไปเก็บไว้ที่เขื่อนบน แล้วพร่องออกทางอำเภอแก้งคร้อให้มากขึ้น ซึ่งจะบรรเทาน้ำในเทศบาลเมือง น้ำท่วมรวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่แห้งแล้งในอำเภอแก้งคร้อ สุดท้ายควรเพิ่มประตูระบายน้ำ สำหรับเขื่อนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพร่องน้ำเพราะปัจจุบันพร่องได้แค่ 300,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำ สามารถเข้ามาสูงสุดถึง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เท่ากับไม่ถึงไม่ถึง 3 วันน้ำก็ล้นเขื่อนล่างเข้าไปท่วมเทศบาลเมือง”นายอัครแสนคีรี กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 สิงหาคม 2567

“สส.จำลอง” แนะ ใช้ต้นสะเดากำจัดแมลง วอน ”ก.พาณิชย์-เกษตรฯ“พัฒนานวัตกรรมชีวมวล แก้ปัญหาให้เกษตรกรโดยด่วน

,

“สส.จำลอง” แนะ ใช้ต้นสะเดากำจัดแมลง วอน ”ก.พาณิชย์-เกษตรฯ“พัฒนานวัตกรรมชีวมวล แก้ปัญหาให้เกษตรกรโดยด่วน

นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงปัญหามันสำปะหลัง โดยตนได้ลงพื้นที่สำรวจ ที่รับซื้อมันสำปะหลังในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับราคาที่ตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน และยังมีโรคระบาด หรือเรียกว่า โรคใบด่าง ซึ่งเกิดจากแมลงชนิดหนึ่ง เป็นไวรัสแพร่ระบาดในโรคในแมลงหวี่ขาวยาสูบหรือที่เรียกว่า Bemisia tabaci โรคนี้จะทำให้ต้นมันสำปะหลังแคระ แกน แล้วก็ง่อย ใบมันจะหด และก็จะทำให้แป้งมันไม่มีคุณภาพ ผลผลิตที่ได้รับก็ถูกปฏิเสธจากการรับซื้อ หรือไม่ได้ประโยชน์เลย

“ผมขอฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ราคามันสำปะหลังไม่ดียังไม่พอ แถบบ้านผมอยู่ท้ายเขื่อนลำปาว น้ำชลประทานก็จะมาท่วม อีกทั้งพี่น้องประชาชนก็เช่าที่กรมธนารักษ์ในการทำมาหากิน ซึ่งปัจจุบันนี้กรมธนารักษ์ก็ปรับราคาการเช่าที่ทำกินกับพี่น้องประชาชนขึ้นมาอีก ทำให้พี่น้องเกษตรกรขาดทุนในการทำไร่มันสำปะหลังอย่างยิ่ง“นายจำลอง กล่าว

นายจำลอง กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อนคือ การกำจัดแมลงจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ซึ่งตนไปหาข้อมูลมาแล้วพบว่า ต้นสะเดาสามารถกำจัดแมลงนี้ได้ ตนจึงอยากฝากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมั่นใจว่าท่านรัฐมนตรีใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว และให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว ในรัฐบาลชุดนี้

“ผมอยากมีการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับชีวมวล เพราะปัจจุบันนี้ พี่น้องเกษตรกรใช้โดรนฉีดสารเคมี ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯทั้ง 2 กระทรวง พิจารณาให้มีการรีบๆแก้ไขให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยด่วน”นายจำลอง กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 31 กรกฎาคม 2567

“สส.ปกรณ์”จี้ มหาดไทย แจงให้ชัด ปม เมืองล่าเสี้ยวอาจอพยพคนเข้าแม่ฮ่องสอน ชี้ สร้างความสับสนให้ชาวบ้าน แนะ รีบเคลียร์ก่อนกระทบ ศก.-การท่องเที่ยว

,

“สส.ปกรณ์”จี้ มหาดไทย แจงให้ชัด ปม เมืองล่าเสี้ยวอาจอพยพคนเข้าแม่ฮ่องสอน ชี้ สร้างความสับสนให้ชาวบ้าน แนะ รีบเคลียร์ก่อนกระทบ ศก.-การท่องเที่ยว

นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนในฐานะตัวแทนของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องขอขอบคุณทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้นำโครงการดีๆ อย่าง โครงการคลินิกเกษตรและโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนและเป็นการพัฒนาอาชีพแบบยั่งยืนให้กับคนเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า วานนี้(30 ก.ค.)ได้มีสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ที่มีการสู้รบกันอย่างหนักที่ทำให้ประชาชนในเมืองล่าเสี้ยวนั้น มีแนวทางว่าจะอพยพออกจากเมืองล่าเสี้ยว ซึ่งพี่น้องประชาชนชาวเมืองราชส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทยใหญ่ที่จะอพยพออกมาจากเมืองล่าเสี้ยว โดยหมุดหมายที่สำคัญที่หนึ่งที่จะอพยพมานั้น คือ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามข่าว ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นมีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะข่าวนั้นแพร่ไปทั่วในโลกโซเชียล

“เพื่อให้ความมั่นใจและความสบายใจของพี่น้องประชาชน ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องแผนการรองรับต่างๆเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะเกิดความสับสน และจะส่งผลกระทบต่อในเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการค้าต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน”นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า ในอดีตเคยมีการสร้างข่าวเท็จ ขยายข่าวเกินความเป็นจริง ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นเสียโอกาส และเสียชื่อเสียงมาแล้ว จึงไม่อยากให้เหตุการณ์แบบในอดีตเกิดขึ้นอีกจึงขอฝากให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนให้กับพี่น้องประชาชนด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 31 กรกฎาคม 2567

“สส.พิมพ์พร”ขอ“กรมธนารักษ์”เร่งอนุญาตใช้พื้นที่เพื่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สนามกีฬา พร้อม จี้ของบประมาณ ดูแล ถนน และตลิ่งทรุดตัว ให้ชาวเพชรบูรณ์

,

“สส.พิมพ์พร”ขอ“กรมธนารักษ์”เร่งอนุญาตใช้พื้นที่เพื่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สนามกีฬา พร้อม จี้ของบประมาณ ดูแล ถนน และตลิ่งทรุดตัว ให้ชาวเพชรบูรณ์

น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงเส้นทางการเดินทางบนถนนทางหลวงหมายเลข 113 ช่วงบริเวณ ตำบลวังชมภู ห้วยงาช้าง ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอชนแดน ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร โดยถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ก่อสร้างมานานแล้ว และยังไม่เคยได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซม ปัจจุบันถนนแคบมากและพื้นที่มีลักษณะบริเวณนั้นผ่านภูเขาสูงชัน จึงอยากให้กรมทางหลวง ช่วยจัดสรรงบประมาณ เพื่อสำรวจออกแบบ ขยายถนน และยกระดับมาตรฐานชั้นทางให้เป็นชั้นสอง เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมา ระหว่าง 2 อำเภอดังกล่าวได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

น.ส.พิมพ์พร ยังขอเร่งรัดติดตาม ความคืบหน้าการขอ ใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน พช.62 หมู่ที่ 3 ตำบลระวิง เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สนามกีฬา ศูนย์ดิจิตอลชุมชน และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ แต่ยังติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์ ซึ่งเคยยื่นเรื่องไว้ตั้งแต่ 9 พ.ย. 2566 จึงขอให้กรมธนารักษ์ เร่งรัดการอนุญาตด้วย

นอกจากนี้ ตนยังได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายก อบต. หินฮาว อำเภอหล่มเก่า ถึงปัญหาตลิ่งทรุดตัว บริเวณริมคลองน้ำพุง หมู่ที่ 4 ตำบลหินฮาว เป็นระยะทางกว่า 100 เมตร เนื่องจากน้ำหลากโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ซึ่งทาง อบต.ได้ทำหนังสือส่งไปยังกรมโยธาธิการแล้ว จึงขอให้กรมโยธาฯเร่งรัดจัดสรรงบประมาณ มาแก้ไขปัญหา เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 31 กรกฎาคม 2567

“บิ๊กป๊อด”ตั้งเป้าพัฒนาดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านโครงการรักษ์ 72 หาดไทย

,

“บุณณดา”เผย “บิ๊กป๊อด”ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพประเทศไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยว ผ่านโครงการรักษ์ 72 หาดไทย เทิดไท้องค์ราชันย์

น.ส.บุณณดา สุปิยพันธุ์ โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ดำเนินโครงการรักษ์ 72 หาดไทย และโครงการ Phuket Sandbox ต้นแบบอนุรักษ์หาดไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

น.ส.บุณณดา กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการดังกล่าว เพื่อคืนความสมบูรณ์ และสมดุลของระบบนิเวศ สร้างความยั่งยืนแก่ชายหาดและท้องทะเล รวมถึงปัจจุบันยังมีปัญหาขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งบริเวณชายหาดและไหลลงสู่ทะเล เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่แก้ได้ยาก เพราะไม่สามารถหาทางเก็บขยะพลาสติกออกจากทะเลได้ทั้งหมด กลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ในเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะสามารถลดขยะพลาสติกลงไปได้มาก

“พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยที่จะทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทะเลถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย หากเราร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะ ซึ่งเป็นมลพิษทางทะเล และสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดและสวยงามให้คงอยู่ต่อไปก็จะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้ความสำคัญกับ ทรัพยากรธรรมชาติ และลงมือทำร่วมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม“ น.ส.บุณณดา กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ก.ค.เวลา 09.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล จะมีการเปิดตัวโครงการ นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ที่มา: https://www.nationtv.tv/news/378946398
วันที่: 29 กรกฎาคม 2567

“สส.สะถิระ”มอง ปัญหาปลาหมอคางดำเกิดมานานถึง 8 รัฐมนตรี ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ มั่นใจการทำงานยุค“รมว.ธรรมนัส”รมช อรรถกร “สางปัญหาได้ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ

,

“สส.สะถิระ”มอง ปัญหาปลาหมอคางดำเกิดมานานถึง 8 รัฐมนตรี ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ มั่นใจการทำงานยุค“รมว.ธรรมนัส”รมช อรรถกร “สางปัญหาได้ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ

นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวถึงปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในขณะนี้ว่า ขณะนี้ต้องให้กำลังใจพี่น้องชาวประมงทั้ง 16 จังหวัด สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการสางปัญหา

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านก็ได้ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาปลาหมอคางดำกินระยะเวลามา 8 รัฐมนตรีแล้ว ปัญหามันไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ แต่เราจะแก้ปัญหาอย่างไร อันดับแรกคือ บ่อเกิดของปัญหา นำเข้ามาอย่างไร และผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือใคร ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดย ร.อ.ธรรมนัส จะช้าหรือเร็วจะได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ส่วนสาระของตัวปัญหา ตนพูดถึงเรื่องวิชาการว่า ปลาหมอคางดำมีพฤติกรรมอย่างไร อันนี้คือ หน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องมาถอดบทเรียน เพราะปัญหามันไม่ได้เกิดแค่วันนี้ แต่เกิดมา 10 ปี นักวิชาการต้องช่วยกัน รวมถึงภาคเอกชนก็ต้องร่วมมือกับรัฐบาล ตนขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาการจัดการปลาหมอคางดำในต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาใช้สารเคมี เช่น โรติโนน (Rotenone) เพื่อกำจัด แต่สารเคมีมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ประเทศออสเตรเลีย ก็ใช้สารเคมี แต่ประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้ผ่อนผันเครื่องมือในการจับปลาหมอคางดำ ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.67 ระยเฃะเวลา 6 เดือน จับไปทั้งหมด 370,000 กิโลกรัม และจากข้อมูลที่ตนมียอดการจับปลาหมอคางดำรวมทุกวิธีเวลา 6 เดือน อยู่ที่ 564,789 กิโลกรัม

“ผมเชื่อว่า รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของทุก ๆ ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งล่าสุดมีการออกกฎกระทรวงห้ามเพาะเลี้ยง ถ้าเพราะเลี้ยงปรับ 2 ล้าน ถามว่า จะมีใครกล้าทำหรือไม่ นี่คือแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ผมมั่นใจว่า ทุกเหตุผล ทุกข้อเสนอ ร.อ.ธรรมนัสและนายอรรถกร พร้อมรับฟังข้อเสนอ และจะนำไปปฎิบัติแน่นอน ซึ่งผมเชื่อว่า 8 รัฐมนตรีที่ผ่านมา จะมีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในยุคของรัฐมนตรีธรรมนัส และรัฐมนตรีช่วยอรรถกร“นายสะถิระ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 กรกฎาคม 2567

“สส.ภาคภูมิ”เผย จ.ตาก น้ำท่วมหนักมากเป็นประวัติการณ์ เร่ง ประสาน“รมว.ธรรมนัส”ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

,

“สส.ภาคภูมิ”เผย จ.ตาก น้ำท่วมหนักมากเป็นประวัติการณ์ เร่ง ประสาน“รมว.ธรรมนัส”ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดตากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งท่วมเอ่อบริเวณอำเภอแม่สอด , แม่ระมาด ,ท่าสองยาง,พบพระ และอุ้มผาง แม้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำในด้านพื้นที่ ฝั่งอำเภอชายแดนตะวันตก ปีนี้นับว่ามีปริมาณน้ำมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันเกินหนึ่งอาทิตย์ แม่น้ำเมย มีระดับน้ำสูงจนล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมถึง 5 อำเภอ

“ผมได้นำเรียนเรื่องนี้ให้แก่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้รับทราบผลกระทบที่เกิดขึ้น โดย ได้สั่งการให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนเป็นการเบื้องต้น หลังจากนี้ก็จะมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เกษตรกรที่ไร่นา พืชผลการเกษตร ได้รับความเสียหาย เมื่อน้ำลดแล้วผมจะประสานให้หน่วยงานเกษตรในพื้นที่เข้าไปสำรวจความเสียหาย เพื่อที่รัฐบาลจะได้จัดสรรงบประมาณมาเยียวยาช่วยเหลือทุกท่าน”นายภาคภูมิ กล่าว

นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่ผู้ประสบภัย ตนอาจจะไปได้ด้วยตนเองได้บางจุด ส่วนที่เหลือสามารถประสานงานกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน ทั้งนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ประสบภัยด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่า ระดับน้ำยังทรงตัวอยู่จะคลี่คลายได้อีกหนึ่งสัปดาห์

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 กรกฎาคม 2567

“รมช.อรรถกร”แจง โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สามเกาะ เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดไม่เกินสิ้นปีได้ใช้ เผย เตรียมหาแนวทางใช้เงินกองทุนช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรทั่วประเทศ

,

“รมช.อรรถกร”แจง โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สามเกาะ เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดไม่เกินสิ้นปีได้ใช้ เผย เตรียมหาแนวทางใช้เงินกองทุนช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรทั่วประเทศ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สอบถามถึงปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและสินค้าเกษตรอื่นได้ จึงอยากทราบว่าจะสามารถจัดงบประมาณโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำและการก่อสร้างอาคารถังพักน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตในพื้นที่ได้หรือไม่

นายอรรถกร กล่าวชี้แจงว่า โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านไผ่สามเกาะ ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าก็อยู่เกือบจะ 20% แล้ว ทางกรมชลประทานคาดว่า จะเร่งทำการก่อสร้างโครงการนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็คือประมาณเดือนธันวาคม โดยโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 85 ล้านบาท โดยมีองค์ประกอบของโครงการ 3 ส่วน คือ 1.สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2.วางระบบท่อส่งน้ำ ที่มีความยาวอย่างน้อย 7 กิโลเมตร 3.เราจะขุดสระเพื่อเก็บน้ำเพิ่มที่เราดึงมาจากเขื่อนแม่กลองอีก 2 สระ เราจะสามารถสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเพื่อพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 500 ครัวเรือนในตำบลเขาขลุง โดยเฉพาะในหมู่ที่ 10 หมู่ที่ 13 หมู่ที่ 14 อำเภอบ้านโป่ง

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางภาครัฐ กรมชลประทาน หรือการผลักดันจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ช่วยกันหาทางออก ตนต้องขอบพระคุณ สส.อัครเดช ที่ท่านถือว่าเป็นคนที่พยายามหาแนวทาง หาข้อมูลร่วมกับพี่น้องในพื้นที่ จนทำให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในวันนี้ขึ้นมา

นายอรรถกร ยังกล่าวต่อถึง แนวทางการหาค่าไฟ ที่ต้องบอกว่า ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องค่าไฟเป็นปัญหาในทุกพื้นที่ แต่เรามีเอกสารที่เป็นข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมชลประทานที่มีภาระหน้าที่ชัดเจนว่า พอท่านก่อสร้างโครงการสถานีสูบน้ำบ้านไผ่สามเกาะเสร็จ ภายในหนึ่งปีจะต้องทำการส่งมอบไปยังองค์การองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.และหลังจากนั้นจะต้องคอยให้คำแนะนำกับกลุ่มที่จะมารับผิดชอบต่อ

นอกจากนี้ ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในเอกสารข้อตกลงร่วมกัน ราษฎรจะมารวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำภายในระยะเวลาหนึ่งปี หลังจากที่มีการก่อสร้างเสร็จ และยังจะมาร่วมกันรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการสูบน้ำ และจะช่วยเหลือในการรักษาบำรุง ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณองค์การส่วนตำบล ซึ่งขณะนี้เนี่ยมีลายเซ็นของท่านนายก อบต.เขาขลุง อยู่ในข้อตกลงร่วม ซึ่งจะทำหน้าที่ในการที่จะรับมอบสถานนีสูบน้ำ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีหนึ่ง หลังจากก่อสร้างเสร็จ และจะช่วยบริหารจัดการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในเรื่องของระยะเวลา หรือว่าการจัดการสูบน้ำไปยังพื้นที่ให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงให้สนับสนุนในด้านงบประมาณค่าใช้จ่าย ภายหลังการรับมอบสถานีสูบน้ำไปบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง พนักงานการซ่อมแซมบำรุงรักษา หรือว่าสมทบค่ากระแสไฟฟ้า

“ผมได้ประสานกับทางกรมชลประธานให้ไปวิธี ก่อนที่จะถึงสิ้นปีนี้ที่เราจะสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมด้วยระบบสูบน้ำแห่งนี้เสร็จ ทางกรมชลประทานจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ไปคุยในพื้นที่ ไปคุยกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ในการที่จะลด บรรเทาภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางหน่วยงานภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร”นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ สส.อัครเดช กล่าวมาต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงว่า การถ่ายโอนภารกิจของสถานีสูบน้ำโดยไฟฟ้า ไปให้ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงที่พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ดีก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ในช่วงที่สินค้าทางการเกษตรบางตัวรายได้ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งตนนำเรียนตามตรงว่า ตนไม่ได้กำกับดูแลกรมชลประทาน แต่ได้ร่วมงานกับกรมชล ซึ่งข้อแนะนำ 2 ข้อของท่านอัครเดช เป็นสิ่งที่ตนเชื่อว่าทางกระทรวงเกษตรฯสามารถนำไปต่อยอดได้ เช่นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการที่จะเพิ่มฟังก์ชันที่เป็นโซลาร์เซลล์ให้สถานนีสูบน้ำ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่นั้นให้ลดลงได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าขณะนี้มีการพูดกัน โดยยืนยันว่า แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรกร เราเห็นตรงกันกับ สส.อัครเดช

“กองทุนที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแลอยู่นั้นมี 14 กองทุนตนจะนำไปหารือกับทางกองทุนต่างๆว่า จะมีกองทุนไหนที่จะสามารถนำมาใช้ เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม การนำเงินของกองทุนมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายด้วย แต่ว่าผมจะหาทาง เพราะเชื่อว่า หากสามารถทำได้จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรทั่วประเทศ”นายอรรถกร กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567

“รมช.อรรถกร”เผย ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อ่างเก็บน้ำยังดีอยู่ มั่นใจ กรมชล มีความพร้อมบริหารจัดการน้ำรับมือช่วงหน้าฝน

,

“รมช.อรรถกร”เผย ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อ่างเก็บน้ำยังดีอยู่
มั่นใจ กรมชล มีความพร้อมบริหารจัดการน้ำรับมือช่วงหน้าฝน

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถามถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วยฤดูฝนที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม และกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน

นายอรรถกร กล่าวชี้แจงว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน ถ้าเราดูค่าเฉลี่ยเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปริมาณน้ำฝนทุกวันนี้มีค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 9% เฉลี่ยอยู่ที่ 710 มิลลิเมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางของประเทศไทย มีปริมาตรความจุรวม 76,337,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะมีน้ำอยู่ประมาณ 39,279,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51% เครื่องมือของรัฐบาลยังสามารถรับน้ำได้อีกถึง 37,058,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเกือบจะ 50% โดยการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำเยอะในช่วงฤดูฝน เรามี 10 มาตรการที่ทำงานผ่านคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ โดยหน่วยงานเราจะใช้แนวทางในการปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบที่ไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในการจัดสรรทรัพยากร ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ รถขุดหรือรถแทร็กเตอร์ ซึ่งทางกรมชลประทานมีเครื่องมือทั่วประเทศอยู่ที่ 5,382 หน่วย แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 1,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 เครื่อง และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ อีก 2,476 เครื่อง จึงเชื่อว่าเรามีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ

ในส่วนช่วงภาคเหนือตอนบน เราก็มีเขื่อนที่สำคัญอยู่ 4 เขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแคน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยขณะนี้ความจุของเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนอยู่ที่ประมาณ 39% ซึ่งมีประมาณน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่นิดหน่อย ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในส่วนนี้ เราจะใช้หลักในการบริหารที่เรียกว่า Rule Cure หมายความว่า ในช่วงหน้าแล้ง เราต้องเก็บกักน้ำไม่ให้ต่ำกว่าเส้นที่ทางกรมชลประทานได้กำหนดไว้ ในส่วนช่วงเวลาที่อยู่ในหน้าฝนเราบริหารอย่าง Upper Rule Curve คือต้องบริหารจัดการน้ำไม่ให้สูงกว่าเส้นที่ได้กำหนดเอาไว้

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง ในยุคสมัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประสานงานกับในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่มาโดยตลอด ดังนั้น การบริหารน้ำต้องรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีนโยบายของเราตอนนี้ คือการทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยในอนาคตอันใกล้ กรมชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น

ในส่วนของแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน โดยทั้งสองสายน้ำจะไหลมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำจังหวัดอุบลราชธานี ที่เรียกว่า M7 โดยนโยบายและมาตรการของกรมชลประทาน จะทำการยกประตู หมายความว่าเราจะเร่งระบายน้ำไปเรื่อย ๆ ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้วันที่น้ำฝนมามากกว่า จะต้องทำการเร่งระบายน้ำจนเกินกำลัง ต้องเรียนว่า กรมชลประทาน ทำงานร่วมกับการประปา การไฟฟ้า ในการจัดการน้ำในพื้นที่ถึงโยบายปล่อยน้ำของกรมกลชลประทาน เราจะทำในระยะไหน ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะเร่งด่วน ซึ่งตอนนี้จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เราสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้น และเชื่อว่าผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเกษตรกร จะมีน้อยลงมากมากกว่าปีก่อน

นายอรรถกร กล่าวต่อถึงการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีโครงการต่างๆที่กรมชลประทานพยายามจะเร่งรัดให้สำเร็จ ซึ่งมีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ที่ ขณะนี้ได้ออกแบบเสร็จแล้ว เหลือ รองบประมาณแล้วก็ถ้าเราได้งบประมาณเมื่อไหร่ เราก็จะทำการก่อสร้าง ซึ่งผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องจังหวัดสุราษฎร์ธานีแน่นอน

“ผมไม่ได้อยู่บนบัลลังก์นี้ตลอด เวลาปกติผมก็ลงไปทำหน้าที่ข้างล่างในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งดังนั้น ผมเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน หรือแม้แต่หน่วยงานอื่นๆอีก 21 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เรายินดีที่จะรับฟังความเห็นและข้อแนะนำจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทุกๆจังหวัดอยู่แล้ว และพร้อมจะทำงานร่วมกับทุกท่านที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567