โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: กิจกรรมพรรค

‘บิ๊กป้อม’ ถือฤกษ์ดี 07.29 น. บวงสรวงท้าวมหาพรหมที่ทำการพรรค พปชร.

,

“บิ๊กป้อม” ถือฤกษ์ดี 07.29 น. บวงสรวงท้าวมหาพรหมที่ทำการพรรค พปชร. เสริมสิริมงคล นำความเจริญรุ่งเรืองสู่พรรค “อนุรักษนิยมทันสมัย”

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 67 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประะวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหม ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าอาคารที่ทำการพรรค พปชร. เพื่อเสริมสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สมาชิก พรรค บุคลากร พนักงาน ทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคสู่การเป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคง ด้วยจุดยืนของการเป็นพรรค “อนุรักษนิยมทันสมัย” ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชน โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรค พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ นายทะเบียนพรรค นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรค และ สส. เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ถือฤกษ์ เวลา 07.29 น. เริ่มพิธีบวงสรวงท้าวมหาพรหม ลงไม้ศักดิ์สิทธิ์ ถวายพวงมาลัย จุดธูปและเทียน ปักธูปที่เครื่องสังเวย ตอกเครื่องมงคลที่ฐาน โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ หลังจากนั้น เริ่มพิธีอัญเชิญท้าวมหาพรหม สถิตบนศาล และภายในประดิษฐานประกอบด้วย องค์ท้าวมหาพรหม 4 พระพักตร์ 8 กร โดยท้าวมหาพรหมถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดในคติของศาสนาฮินดู เป็นเทพเจ้าแห่งความสร้างสรรค์ ความเมตตา เป็นพระผู้สร้างโลก และให้กำเนิดสิ่งต่างๆ พร้อมประทานพรให้กับทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มีนาคม 2567

“ส.ส.ปริญญา ฤกษ์หร่าย” งานวันกีฬาแห่งชาติ ปี 2566 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและร่วมสัมมนา ทิศทางกีฬาไทย ณ อาคารรัฐสภา

, ,

“ส.ส.ปริญญา ฤกษ์หร่าย” งานวันกีฬาแห่งชาติ ปี 2566 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและร่วมสัมมนา ทิศทางกีฬาไทย ณ อาคารรัฐสภา

18 ธค 2566 นายปริญญา ฤกษ์หร่าย สมาชิกสภาผู้แทยราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกีฬาชุดที่ 26 พร้อมด้วยที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ นายพรรษศรณ์ สาครเสถียร ร่วมงาน ทิศทางกีฬาไทย
ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 ธค 66 ณ.กิจกรรมชั้น B1 อาคาร รัฐสภา เพื่อสร้างโอกาสทางกีฬาให้กับเยาวชน และผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้มีการมอบเกียรติบัตร แก่ ผู้ที่มีส่วน ร่วมสนับสนุนงานของ คณะกรรมาธิการกีฬา วุฒิสภาด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 ธันวาคม 2566

“พล.อ.ประวิตร -รมว.ธรรมนัส” ห่วงใยพี่น้องชาวใต้เผชิญอุทกภัย ส่งทีมสส.พปชร.นราธิวาส รุดเข้าช่วยเหลือปชช. 3 จ.ชายแดนใต้

,

“พล.อ.ประวิตร -รมว.ธรรมนัส” ห่วงใยพี่น้องชาวใต้เผชิญอุทกภัย
ส่งทีมสส.พปชร.นราธิวาส รุดเข้าช่วยเหลือปชช. 3 จ.ชายแดนใต้

17 ธ.ค. 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ติดตามสถานการณ์พายุฝน เข้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีความห่วงใยในสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะจ.ยะลา และจ. นราธิวาส จ.สงขลา และปัตตานี โดยได้ประสานงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ เลขาธิการพรรค นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.เขต 3 จ.นราธิวาส นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.เขต 2 จ.นราธิวาส เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมติดตามสถานการณ์และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือ ผ่านทีมงานสส.ในพื้นที่พปชร.อย่างต่อเนื่อง

โดยในวันนี้ สส.สัมพันธ์ และสส.อามินทร์ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปีนี้ พายุฝนตกชุกเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในวันนี้ ก็เตรียมระดมทีมเจ้าหน้าที่ ส่งถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับพี่น้องประชาชนในจ.นราธิวาส พร้อมสอบถามปัญหาความเดือดร้อน เพื่อนำไปสู่การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 17 ธันวาคม 2566

“โฆษก พปชร.” เผยพล.อ.ประวิตร เร่งสส.พร้อมให้ความรู้ ปชช. แปลงเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินทำกิน เพื่อการเกษตร

,

“โฆษก พปชร.” เผยพล.อ.ประวิตร เร่งสส.พร้อมให้ความรู้ ปชช. แปลงเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินทำกิน เพื่อการเกษตร

วันนี้ (12 ธ.ค.) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ฉะเชิงเทรา เขต 3 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธานประชุม ซึ่งประเด็นการหารือครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อม การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เนื่องจากมีพ.ร.บ.สำคัญหลายฉบับรอเข้าสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆที่พรรค พร้อมร่วมแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ได้กินดีอยู่ดี ทั้งในเรื่องการรณรงค์ให้ความรู้กับเกษตรกรในการดำเนินการของแปลงเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด เพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะมีการมอบเอกสารสิทธิ์ที่จะมีผลในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เป็นนโยบายที่พรรค ผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่มีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในเรื่องการยื่นญัตติด่วน เรื่องของนิรโทษกรรม พรรคพร้อมพิจารณาความเหมาะสม หากมีโอกาส พรรค ก็ขอยื่นญัตติ เพื่อนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ของกรรมาธิการ เพื่อให้เป็นเวทีทุกฝ่าย ได้แสดงเหตุผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ใช้กระบวนการของรัฐสภา เป็นฝ่ายดำเนินการ เพราะเป็นพื้นที่สำหรับทุกฝ่าย ในการหาทางออกให้ดีที่สุด

“สำหรับการพิจารณางบประมาณประจำปี 2567 จากที่มีกระแสข่าว ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะขอเลื่อนเรื่องนี้ออกไป เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่พร้อมนั้น เรื่องดังกล่าว เห็นว่าคงต้องดูภาพรวมของรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีความพร้อมเมื่อไร ซึ่งสส.ในสภา ก็พร้อมพิจารณา เพราะเราต้องการเดินหน้าให้เร็วที่สุด เนื่องจาก พรบ. ผ่านสภา เร็วเท่าไหร่ ก็จะส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชน ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เร็วยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังได้รับทราบ ประเด็นของ นายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตสมาชิกพรรค พปชร. ซึ่งได้ลาออก และหมดสมาชิกภาพไปแล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับพรรค

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 ธันวาคม 2566

“รมช.สันติ-โฆษกพปชร.” นำสส.พปชร. ร่วมวางพานพุ่มถวาย ร.7 เนื่องใน “วันรัฐธรรมนูญ” ประจำปี 66

,

“รมช.สันติ-โฆษกพปชร.” นำสส.พปชร. ร่วมวางพานพุ่มถวาย ร.7 เนื่องใน “วันรัฐธรรมนูญ” ประจำปี 66

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 จ.ฉะเชิงเทรา โฆษกพรรคพปชร. เป็นตัวแทนพรรค พปชร. พร้อมด้วย สส. พปชร. ร่วมพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมฯ เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี บริเวณพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ในช่วงเช้าได้ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา , ประธานศาลฎีกา ,เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ,ข้าราชการ และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ นำพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมฯ เบื้องหน้าพระรูปต้นแบบฯ

ทั้งนี้ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 ธันวาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส“ เปิดปฏิบัติการ”พญานาคราช” ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รักษาประโยชน์เกษตรกรไทย

,

“รมว.ธรรมนัส“ เปิดปฏิบัติการ”พญานาคราช” ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รักษาประโยชน์เกษตรกรไทย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดงานดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจัดขึ้น เพื่อประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยภายในงานมีการมอบธงและปล่อยขบวนชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ได้แก่ พญานาคราช (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ฉลามขาว (กรมประมง) พญาไท (กรมปศุสัตว์) สารวัตรเกษตร (กรมวิชาการเกษตร) ออกปฏิบัติการฯ พร้อมเปิดทุกกระบวนการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมง ตั้งแต่การ X-Ray ตู้สินค้าประมงนำเข้าเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบสินค้าภายในตู้ และการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้า ตลอดจนนำเสนอนิทรรศการกระบวนการตรวจสินค้าเกษตรนำเข้า (พืช ประมง ปศุสัตว์) ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง
“ต่อจากนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” จะดำเนินการตรวจสอบสินค้าภาคการเกษตรทุกประเภทที่นำเข้าสู่ราชอาณาจักรแบบผิดกฎหมาย ที่ไม่ผ่านขั้นตอนของศุลกากร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร โดยจะใช้ชุดปฏิบัติการนี้ในการป้องกัน ปราบปราม ตรวจยึด และดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายผมและท่านไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งจะเห็นการปราบปรามอย่างจริงจังภายใต้การทำงานของทั้ง 4 หน่วยงาน ที่สามารถเข้าตรวจค้นได้ทุกที่โดยไม่ต้องขอหมายศาล” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (พญานาคราช) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร จำนวนกว่า 70 นาย เพื่อร่วมบูรณาการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการในการขับเคลื่อนการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยชุดปฏิบัติการพญานาคราช ภายใต้การกำกับดูแลและขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เสริมทัพความเข้มแข็งให้กับชุดปฏิบัติการพิเศษ (เดิม) ของกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และต้องมีการรายงานผลการทำงานให้รัฐมนตรีฯ ทราบทุก 15 วัน

สำหรับในปี 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตประมงที่ได้จากการจับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงทั้งหมด 2.39 ล้านตัน และมีการนำเข้าสินค้าประมงปริมาณ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 158,431 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณ 808,539 ตัน ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 727,709 ตัน หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 182,049 ตัน เพื่อบริโภคภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าประมงรวม 1.60 ล้านตัน มูลค่า 229,123 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง 76,633 ล้านบาท กุ้งและผลิตภัณฑ์ 52,623 ล้านบาท อาหารแมวและสุนัขกระป๋อง 18,063 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจสินค้า พบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 คดีในปี 2565 และพบการกระทำผิด 9 คดี ในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 66) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทุกหน่วยงานพร้อมยกระดับการปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรอย่างเข้มแข็ง โดยในส่วนของสินค้าประมงได้สั่งการให้ทุกด่านตรวจประมงเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด เปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศเสี่ยงสูง 100 % (จากเดิมจะเปิดตรวจ 30%) โดยได้กำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ (1) การเปิดตรวจ ณ ด่าน หรือ ท่าเทียบเรือ และ (2) การตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) ด้วยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อควบคุมและตรวจสอบคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้าจริงตรงตามที่สำแดงในเอกสารจนมั่นใจว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิตหรือจำหน่ายต่อไป รวมถึงจะมีการบูรณาการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ปปง. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำสินค้าทุกชนิดเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย กรมประมงจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงสถานที่เก็บรักษา กรมประมงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการห้องเย็นเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ยังไม่ได้แจ้งการประกอบกิจการต่อกรมประมง ให้มาแจ้งต่อกรมประมง ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือประมงอำเภอในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดขอความร่วมมือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมประมง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 ธันวาคม 2566

สันติ รมช.สธ.หนุนศักยภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผุดไอเดียสร้างเมืองสมุนไพรสร้างรายได้ Soft Power สู่ท้องถิ่น

สันติ รมช.สธ.หนุนศักยภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผุดไอเดียสร้างเมืองสมุนไพรสร้างรายได้ Soft Power สู่ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อสารนโยบายมุ่งเน้น และการมอบนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมอบใบประกาศให้กับผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี

นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับ 30 บาท เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการแก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายมุ่งเน้น 13 ประเด็น เกี่ยวข้องกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 6 ประเด็น ได้แก่ โครงการพระราชดำริ สุขภาพจิต/ยาเสพติด การแพทย์ปฐมภูมิ สถานชีวาภิบาล ดิจิทัลสุขภาพ และเศรษฐกิจสุขภาพ โดยประเทศไทยมีความโดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว จึงส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพเห็นได้จากช่วงสถานการณ์โควิด 19 คนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย และสมุนไพรมากขึ้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ เช่น ส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพ

“การนวดแผนไทย ถือเป็นการนวดเพื่อบำบัดโรคต่างๆ ทั้งการนวดคลายเส้น นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และยังมีส่วนสร้างงานสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการนวดแผนไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และแต่ละประเทศก็ต้องการแรงงานนวดแผนไทยจำนวนมาก ขณะที่เรื่องสมุนไพร ส่วนใหญ่เป็นอาหารไทยเพื่อสุขภาพ อาหารเป็นยาของไทยเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงทานแล้ว สามารถที่จะเป็นยาในชีวิตประจำวันได้ด้วย อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities” นายสันติ กล่าว

การนวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ และผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ทั้งในภาครัฐและเอกชน อาหารไทย เป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารสูงถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 และในเดือนธันวาคม 2566 นี้ กำลังจะมีงาน Kick off มหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพที่จังหวัดเพชรบูรณ์

นายสันติ กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ สมุนไพรไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ประกาศ “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีการวางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ กลุ่มที่ 2 คือ สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ กระชาย มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต ในการขับเคลื่อนพัฒนา

ทั้งนี้มีแนวคิดที่จะเข้าไปพัฒนาเป็นเมืองสมุนไพร ในพื้นที่ชนบท ขเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมเพาะปลูกพืชสมุนไพร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน หลายจังหวัดได้มีการพัฒนาต่อยอดพืช/สมุนไพร ให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้และกระจายสู่ภูมิภาคแต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุน ปกป้อง คุ้มครอง ภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย ให้คงอยู่อย่างทรงคุณค่าและยั่งยืน นำมาต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน”

นายสันติ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีความตั้งใจ ที่จะสนับสนุนให้สมุนไพร ทั้งพืชสมุนไพรที่ค้นพบแล้ว และที่ยังไม่ได้ค้นพบ ในแต่ละชนิดที่มีจำนวนอีกมากนำมาวิจัยเพื่อใช้ในการรักษาโรค นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะให้กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมกับวัดโพธิ์ จัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยเปิดสอนการนวด เพื่อสุขภาพเมื่อเรียนจบก็จะได้รับใบประกาศและการรับรอง ก็จะเกิดความน่าเชื่อถือทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้รักษาบริการ สิ่งเหล่านี้จะเป็น Soft Power ที่มีความสำคัญ หากไปต่างประเทศก็จะมีรายได้เดือนละแสน ก็เป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2566

“พล.อ.ประวิตร” ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ใช้กระทงน้ำแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมอวยพรขอให้คนไทยพบแต่สิ่งดี ๆ ส่งโรคภัยไข้เจ็บ ลอยไปกับสายน้ำ

,

“พล.อ.ประวิตร” ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ใช้กระทงน้ำแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมอวยพรขอให้คนไทยพบแต่สิ่งดี ๆ ส่งโรคภัยไข้เจ็บ ลอยไปกับสายน้ำ

เมื่อ เวลา 17.45 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)นำกรรมการบริหารพรรค อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค นายอภิชัย เตชะอุบล กรรมการบริหารพรรค และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ประธานกรรมการด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมถึงสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมสืบสานประเพณีไทยในแบบรักษ์โลก โดยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมลอยกระทง “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย 1 ครอบครัว 1 กระทง” ณ บริเวณบึงน้ำใน มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ5 จังหวัด

โดยภายหลังจากลอยกระทงเสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่า เทศกาลลอยกระทงของไทย เป็นประเพณีที่ สืบสาน และส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ก็ขอทุกฝ่ายสนับสนุนการจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงให้เหมาะสม ทั้งนี้ ตนขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนพานพบแต่สิ่งดี ๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บลอยไปกับสายน้ำ และมีความสุขสมหวังตามที่ทุกคนขอพรไว้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 พฤศจิกายน 2566

ชาวบ้านนครพนมแห่ต้อนรับ“พล.อ.ประวิตร“ แน่นวัดโฆสมังคลาราม ร่วมกฐินฯสืบสานพุทธศาสนาให้ยั่งยืน

,

ชาวบ้านนครพนมแห่ต้อนรับ“พล.อ.ประวิตร“ แน่นวัดโฆสมังคลาราม ร่วมกฐินฯสืบสานพุทธศาสนาให้ยั่งยืน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดโฆสมังคลาราม บ้านโคกสว่าง ต.โคกสว่าง อ.ปลาปาก จ.นครพนม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อสมทบทุนจัดหาสิ่งของพัฒนาวัด และปรับปรุงพระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.จังหวัดสระแก้ว และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายวิรัช รัตนเศรษฐ ,พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา,พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ,นางรัชนี พลซื่อ ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด,น.ส.กาญจนา จังหวะ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยคณะพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ร่วมทำบุญทอดถวายกฐินสามัคคีประจำปี ในโอกาสนี้ มากกว่าปีที่ผ่านมา

ภายหลังเสร็จพิธีทอดกฐิน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นประธานเปิดศาลาอเนกประสงค์บริเวณหน้าพระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม พร้อมทั้งถวายผ้าห่มพระประธานและสักการะพระประธานในพระมหาธาตุเจดีย์ฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรฯ ได้ทักทายประชาชน สาธุชน ที่มา ร่วมทำบุญในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ท่ามกลางบรรยากาศให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง และอบอุ่น ในปีนี้นับเป็นปีที่ 9 ที่ได้ทำบุญทอดถวายกฐินมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง พล.อ.ประวิตรฯ ยังได้มีความศรัทธาต่อองค์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเคยมาปฏิบัติธรรม ณ วัดแห่งนี้ด้วย ในสมัยที่ พล.อ.ประวิตรฯ เดินทางมาปฏิบัติราชการ เมื่อหลายปีก่อน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 พฤศจิกายน 2566

“พล.อ.ประวิตร”รับหนังสือเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรี เผย พปชร.พร้อม สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติ

,

“พล.อ.ประวิตร”รับหนังสือเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรี เผย พปชร.พร้อม สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รับหนังสือข้อเสนอประเด็นจริยธรรมทางเพศ จากมูลนิธิเพื่อนหญิงและภาคีเครือข่ายกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิสตรี เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) จาก ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ ตัวแทนพรรคฯ ซึ่งไปร่วมงานเสวนาทางวิชาการเรื่องผู้หญิงส่งเสียงถามหาจริยธรรมทางเพศของพรรคการเมือง โดยทางเครือข่ายเพื่อนหญิงได้มีการส่งข้อเสนอผ่านตัวแทนไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค เพื่อนำมาเป็นนโยบายสำหรับการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร สส. นอกจากตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแล้ว ต้องมีการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมทางเพศด้วย

อีกทั้งวาระนี้พรรคพลังประชารัฐได้ส่งตัวแทนไปร่วมเสวนาเรื่อง “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จากผู้มีอำนาจทางการเมือง” โดย ดร.บุณณดา กล่าวถึงงานเสวนาว่า วัตถุประสงค์ของการระดมความคิดนี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงยังคงถูกกระทำ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นแต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงอีกจำนวนมากยังคงถูกทำร้ายคุกคามทั้งในเรื่องเพศ และเรื่องจิตใจ โดยปัญหาสำคัญคือความไม่เสมอภาคเชิงอำนาจที่แตกต่างกันโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ามักใช้ความได้เปรียบในการคุกคามต่อผู้หญิง หรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ทั้งนี้ในวงเสวนาได้มีการตั้งประเด็นถึงกรณีการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นโดยนักการเมือง แต่พรรคการเมืองต้นสังกัดกลับได้นำข้อมูลการตรวจสอบที่ควรจะเป็นความลับมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนผู้กระทำผิดกลับไม่ได้มีมาตรการลงโทษที่จริงจัง เพียงแค่ตัดเรื่องจบ ผู้กระทำผิดยังคงได้ไปต่อ ในขณะที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือทางจิตใจจากการที่ข้อมูลการเสียหายได้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว

“ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ตั้งแต้ต้น ผู้แทนของพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้แทนที่ใกล้ชิด เข้าใจ และให้เกียรติพี่น้องประชาชน ปัญหาดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นกับพรรคของเรา โดย
ทางหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้กำชับเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายด้านการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติเช่นกัน”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 พฤศจิกายน 2566

“พล.ต.อ พัชรวาท” รุกแก้ “ฝุ่นพิษ“ ใช้มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหา พร้อมรายงานทุก 30 วัน ตั้ง “ปลัดทส.” ประธานอนุฯจัดการมลพิษ ร่วม 17 ผู้ว่าฯ ดึง 3 แม่ทัพภาค นั่งผอ.ศูนย์ระดมดับไฟป่า

,

“พล.ต.อ พัชรวาท” รุกแก้ “ฝุ่นพิษ“ ใช้มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหา พร้อมรายงานทุก 30 วัน ตั้ง “ปลัดทส.” ประธานอนุฯจัดการมลพิษ ร่วม 17 ผู้ว่าฯ ดึง 3 แม่ทัพภาค นั่งผอ.ศูนย์ระดมดับไฟป่า

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.รัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดพื้นที่การเผาไหม้ซ้ำซาก ในพื้นที่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่การเกษตรเผาไหม้ และการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ได้แก่ การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผา การเร่งรัดการนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผามาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 และรายงานทุก 30 วัน
ขณะเดียวกันได้เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ที่มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 คำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดปริมณฑล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาและบังคับใช้กฎหมายเชิงพื้นที่ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน สร้างการรับรู้ และเผยแพร่ข้อมูลในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่า โดยมีแม่ทัพภาค 3 เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อบูรณาการการดับไฟป่า.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 23 พฤศจิกายน 2566

พล.ต.อ. พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. สั่งกรมทรัพย์สร้างความเชื่อมั่นปชช. หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เร่งศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย

,

พล.ต.อ. พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. สั่งกรมทรัพย์สร้างความเชื่อมั่นปชช.
หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เร่งศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย

สืบเนื่องจากแผ่นดินไหวสองครั้งที่รับรู้ได้ในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.37 น.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเชียงตุง มีจุดเหนือศูนย์เกิดอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศเมียนมาและมีแผ่นดินไหวตามจำนวน 34 ครั้ง แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร นนทบุรีและอาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว มีอาคารแตกร้าวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น่านเชียงใหม่ และสกลนคร และต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03.07 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 มีจุดเหนือศูนย์เกิดอยู่บริเวณตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัย เพื่อลดความตระหนกของพี่น้องประชาชนให้มีความสบายใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่ และเร่งรัดให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการสำรวจศึกษา และติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำแผนที่แสดงภัยพิบัติแผ่นดินไหว และแผนที่แสดงจุดปลอดภัยสำหรับเป็นจุดรวมพลชั่วคราวและอพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว จัดทำแผนการซักซ้อมอพยพภัยแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้นำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ไปใช้ประกอบการจัดทำ “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564”

กรมทรัพยากรธรณีได้ศึกษารอยเลื่อนมีพลัง กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพื่อใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติและลดผลกระทบ ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่สำคัญส่วนใหญ่ที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้ วางตัวอยู่ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ติดตามข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบในพื้นที่ พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชน และจัดทำรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวด่วนเสนอ ผู้บริหาร ทธ. ทส. เผยแพร่สู่เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ทราบข้อเท็จจริง และแนะนำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับมือ
  • มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของกรมทรัพยากรธรณี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนขี้แจงถึงสาเหตุและวิธีปฏิบัติตนเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้กับประชาชนได้เข้าใจ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนก
  • สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวัดแผ่นดินไหว และติดตามการเกิดแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เพื่อแจ้งข่าวให้กับประชาชนทราบสถานการณ์

ทั้งนี้ ได้มีข้อแนะนำให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ดังนี้

  • ตรวจสอบว่าพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวระดับใด หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องก่อสร้างอาคารให้แข็งแรงสามารถต้านแรงแผ่นดินไหว ตามมาตรฐานของกรมโยธาฯ และดูแลอาคารให้อยู่ในสภาพดี มั่นคงแข็งแรง
  • ศึกษาความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว ศึกษาแผนปฏิบัติการและการซักซ้อมอพยพหนีภัยแผ่นดินไหว เข้าร่วมการซักซ้อม และหากเผชิญเหตุแผ่นดินไหวให้ปฏิบัติตนอย่างมีสติตามที่ได้รับข้อแนะนำจากกรมทรัพยากรธรณี
  • หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย จึงกลับเข้าไปยังอาคารบ้านเรือนได้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเร่งด่วนในการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยจัดทำเอกสารเผยแพร่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของกรมทรัพยากรธรณีทั้งทางเว็บไซต์ www.dmr.go.th และเฟซบุ๊ค กรมทรัพยากรธรณี ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งได้ดำเนินการการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวผ่านทาง Facebook Live กรมทรัพยากรธรณี ในรายการ “ธรณีชวนคุย ตอน แผ่นดินไหวเชียงตุง ว้าวุ่นถึงสกลนคร :อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไรให้ปลอดภัย” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยกรมทรัพยากรธรณี หมายเลขโทรศัพท์ 02 621 9500

“อยู่ในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย ทำอย่างไรให้ปลอดภัย อย่างยั่งยืน”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2566