โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

แถลงข่าวพรรคพลังประชารัฐ ทีม ศก. พรรคพลังประชารัฐ ‘’มล.กรกสิวัฒน์-ธีระชัย“ วิพากษ์ผลงานของรัฐบาล กระทุ้งให้เงินบาทแข็งลดราคานํ้ามัน และระวังการเขมือบบริหารกองทุนวายุภักษ์

แถลงข่าวพรรคพลังประชารัฐ
ทีม ศก. พรรคพลังประชารัฐ ‘’มล.กรกสิวัฒน์-ธีระชัย“ วิพากษ์ผลงานของรัฐบาล กระทุ้งให้เงินบาทแข็งลดราคานํ้ามัน และระวังการเขมือบบริหารกองทุนวายุภักษ์

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคฯ นาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร โดยมุ่งตรงไปยัง เรื่องเงินบาทกระทบราคานํ้ามัน และกองทุนวายุภักษ์

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค กล่าวว่า เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจต่อผู้ส่งออก เพราะแม้ว่าขายสินค้าเป็นเงินดอลล่าร์เท่าเดิมก็จริง แต่เมื่อแปลงเป็นบาทก็จะได้จำนวนน้อยลงกว่าเดิมถึง 10%

แต่เงินบาทอยู่ในตลาดเสรี การจะกำหนดให้ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนคงที่ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากเงินบาทก็มันเหมือนสินค้าทั่วไปเมื่อมีคนต้องการมาก ราคาก็แพง หรือ เรียกว่า “บาทแข็ง” ตอนนี้ใช้เงินเพียง 33 บาท แลกเงินดอลล่าร์ได้ 1 เหรียญ ขณะที่ 3 เดือนก่อนต้องใช้เงินถึง 36 บาท จึงแลกเงินดอลล่าร์ได้ 1 เหรียญ

เงินบาทแข็งมีข้อเสีย ที่รู้กันดี คือ ส่งออกแล้วได้เงินบาทน้อยลง แต่การนำเข้าก็จ่ายเงินบาทน้อยลงเช่นกัน ข้อดีของบาทแข็ง คือ การนำเข้าสินค้าจำเป็นทั้ง นํ้ามันดิบ เพื่อกลั่นเป็นนํ้ามันเบนซินและดีเซล การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อผลิตไฟฟ้าก็ต้องถูกลง ดังนั้น เมื่อบาทแข็งค่าครองชีพควรถูกลง เพราะต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่งถูกลง

แต่ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ราคานํ้ามันกลับมีราคาแพงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังคงสูง เงินเฟ้อจึงปรับตัวลงได้ยาก

เปรียบเทียบราคานํ้ามันในวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ในช่วงที่เงินบาทและราคานํ้ามันดิบอยู่ในระดับเดียวกันกับปัจจุบัน (24 ก.ย. 2567) พบว่า ภายใต้การจัดการของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช) ราคานํ้ามันกลับแพงขึ้น 4.5-5.5 บาท (ดูตารางแนบ) ทั้งนํ้ามันเบนซิน แก๊ซโซฮอลและนํ้ามันดีเซล เพราะมีการเรียกเก็บเงินกองทุนสูงขึ้น เก็บค่าการตลาดสูงขึ้น เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น ท่านนายกฯ ต้องตระหนักว่า ท่านต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช) ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายยิ่งกว่ารัฐมนตรีพลังงาน จึงต้องจัดการปัญหาราคาพลังงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน ก่อนที่ประชาชนจะตำหนิท่านว่า บริหารประเทศแบบ ปากว่าตาขยิบ

เพราะท่านเคยหาเสียงไว้ว่า ถ้าท่านเป็นรัฐบาลจะลดราคาพลังงานทันที แต่วันนี้ท่านเป็นนายกฯ แล้วกลับปล่อยปละละเลยให้ราคานํ้ามันสูงไม่สะท้อนค่าเงินบาทแข็ง ส่วนค่าไฟฟ้าก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ทั้งที่การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมีราคาตํ่าลง และข่าวร้ายก็คือ ค่าไฟฟ้าอาจจะปรับขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

ดังนั้น หากท่านแพทองธารเป็นนายกฯ ที่ดี ต้องไม่นิ่งเฉย เพราะการไม่แก้ไขปัญหาจะเหมือนการทำร้ายประเทศชาติ ประชาชน และผู้ประกอบการ

**********

นายธีระชัยเปิดเผย มีข่าวว่าอาจมี “กลุ่มทุนยักษ์ไทยดูไบ” สนใจเรื่องคาสิโน และเรื่องกองทุนวายุภักษ์

กรณีคาสิโน:- นายธีระชัยนำข่าวจากสื่อมวลชนมาถ่ายทอด เกี่ยวกับบริษัท VGI ซึ่งราคาหุ้นพุ่งขึ้นหวือหวา โดยนสพ.’ข่าวหุ้น’ ระบุสาเหตุเนื่องจาก มีข่าวว่าเป็นรายหนึ่งที่จะยื่นขอใบอนุญาตคาสิโน

สื่อรายงานว่า บริษัท VGI เดิมมีนายคีรี กาญจนพาสน์ถือหุ้นอยู่ 60% บัดนี้ยอมลดลงเหลือ 30% เพราะขายหุ้น 45% ให้แก่นักลงทุนใหม่ 4 ราย รายหนึ่งชื่อกองทุน Opus Chartered Issuance ซึ่งนสพ.’ข่าวหุ้น’ เรียกเป็น “กลุ่มทุนยักษ์ไทยดูไบ”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกูเกิ้ลพบว่า Opus Chartered Issuance เป็นบริษัทโบรกเกอร์จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศลักเซมเบิร์กในยุโรป ให้บริการเป็นหน้าฉากเพื่อปิดบังชื่อของผู้ถือหุ้นแท้จริง มีที่อยู่ติดต่อได้ในเมือง Umm Al Quwain ซึ่งอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใกล้กับดูไบ ประชาชนจึงควรติดตามว่า โครงสร้างการถือหุ้นแบบนี้ ตั้งสมญานามเป็นไอ้โม่งดูไบ ได้หรือไม่? และเข้ามาลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ใด?

สื่อรายงานอีกว่า ส่วนนักลงทุนใหม่ในบริษัท VGI อีก 2 รายคือ CAI Optimum Fund VCC และ ASEAN Bounty นั้น นสพ. ‘ข่าวหุ้น’ พบว่ามีความเชื่อมโยงไปที่ บล.ฟินันซ่า ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่กองทุนวายุภักษ์ด้วย
กรณีกองทุนวายุภักษ์:- นายธีระชัยนำข่าวจากสื่อมวลชนมาถ่ายทอด เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 กองทุน Opus เข้ามาซื้อหุ้นใน บลจ. MFC 24.96% ซึ่งทำให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด (ธนาคารออมสิน 24.94% และกระทรวงการคลัง 15.92%) ทั้งนี้ เนื่องจาก บลจ. MFC เป็นหนึ่งในสองผู้บริหารกองทุนวายุภักษ์ ประชาชนจึงควรติดตามว่า อาจมีไอ้โม่งเบื้องหลัง ที่ต้องการควบคุมการบริหารกองทุน ใช่หรือไม่?

นายธีระชัยอธิบายว่ากองทุนวายุภักษ์เป็นเป้าหมายที่ล่อใจ เพราะเงินที่เพิ่งระดมจากเอกชน 1.5 แสนล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังได้ขยายขอบเขตให้ลงทุนได้แบบซูเปอร์เสี่ยง ได้ทั้งในและนอกประเทศไทย ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์

“ผมตั้งคำถาม ทำไมรัฐมนตรีคลังอนุมัติให้เสนอขายกองทุนวายุภักษ์อย่างไม่โปร่งใส ผิดวิสัยกองทุนขายประชาชนทั่วไป เพราะไม่ระบุเป้าหมายประเภทธุรกิจที่จะลงทุน แบบนี้ผู้จองซื้อจะไม่สามารถวิเคราะห์อนาคตได้เลย เพียงแค่จูงใจด้วยการประกันผลตอบแทนขั้นตํ่า และคุ้มครองเงินต้น ..

ผมจึงขอเตือนรัฐมนตรีคลัง ท่านมีหน้าที่ต้องป้องกันมิให้โครงการซึ่งเป็นของรัฐบาลไทย ตกไปเป็นเครื่องมือในการสมคบกันหาประโยชน์ส่วนตนให้แก่กลุ่มพรรคพวก” นายธีระชัยยํ้า

พร้อมทั้งเปิดเผยด้วยว่า ตนเองได้ร้องเรียนขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า อาจมีการปฏิบัติไม่สอดคล้องกฎหมายอาญา มาตรา 147, มาตรา 152, มาตรา 157 และมาตรา 358 หรือไม่ เพราะการเอาเงินแผ่นดิน 3.5 แสนล้านบาทไปประกันผลตอบแทนและคุ้มครองเงินต้นให้แก่ผู้ลงทุนเอกชนนั้น อาจเป็นการมิชอบ

นายธีระชัยเชิญชวน ผู้ใดที่สนใจจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และต้องการเจาะลึกในประเด็นเทคนิค ก็ติดต่อมาขอคำอธิบายได้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 ตุลาคม 2567

" ,