โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

ไทยเสี่ยงเสียดินแดนทางทะเล “ธีระชัย” แนะรัฐบาลประท้วงกัมพูชาด่วน

“ธีระชัย” หวั่นไทยเสียดินแดน แนะรัฐบาลยื่นประท้วงรัฐบาลกัมพูชาทันที ให้ทำลายสันเขื่อนที่สร้างยื่นลงไปในทะเลใกล้หลักเขตที่ 73 ติดต่านคลองใหญ่ และแจ้งว่าไทยจะไม่ยอมรับเส้นแบ่งครึ่ง หากกัมพูชาใช้สันเขื่อนดังกล่าวอ้างอิงตามกติกาเขตทะเลของสหประชาชาติ

วันที่ 5 เมษายน 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุก๊ หัวข้อเรื่อง พื้นที่ทับซ้อน-ทำให้ไม่ซับซ้อน (1) มีรายละเอียดดังนี้

เรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างไทยกับกัมพูชา มีหลายประเด็นที่ควรเตือนรัฐบาลเพื่อระวังไม่ให้ไทยต้องเสียดินแดนในทะเล

พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ ส.ว.ได้อภิปรายนำเสนอแง่มุมสำคัญในเรื่องนี้ แต่น่าเสียดายที่สื่อมวลชนและประชาชนชาวไทยยังให้ความสนใจน้อย

ผมจึงขอนำมาขยายความ ดังนี้

รูป 1 ท่านแจ้งว่า ถ้าคนไทยยืนที่หลักเขตเลขที่ 73 ซึ่งเป็นจุดแบ่งเขตแดนบนบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ล่าสุด จะเห็นมีสิ่งก่อสร้างยื่นยาวลงไปในทะเล (ลูกศรสีแดง)

รูป 2 สิ่งก่อสร้างดังกล่าวยื่นออกไปจากชายฝั่งของกัมพูชา รูปนี้มองจากฝั่งไทยจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นสันเขื่อน

ทั้งนี้ ถ้าสร้างสันเขื่อนเพื่อกันคลื่นไม่ให้กระทบชายฝั่ง โดยปกติแนวของสันเขื่อนจะต้องวางขนานกับชายฝั่ง

แต่สันเขื่อนนี้วางแนวจากชายฝั่งมุ่งออกไปยังทะเลอ่าวไทย จึงย่อมไม่ค่อยจะมีประสิทธิผลในการป้องกันชายฝั่ง

รูป 3 ด้านซ้ายมือ เป็นแผนที่ที่แสดงตำแหน่งหลักเขตเลขที่ 73 โดยขยายแผนที่ในสี่เหลี่ยมแดงไปเป็นรูปด้านขวามือ

จะเห็นได้ว่า แนวสันเขื่อนยื่นตั้งฉากออกไปจากชายฝั่ง

รูป 4 ผู้อ่านสามารถดูแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมใน Google maps ได้เอง จะเห็นได้ว่าเขื่อนนี้ตั้งอยู่แทบจะติดกับด่านพรมแดนคลองใหญ่ของไทย

ถามว่า ทำไม พลเรือเอก พัลลภ จึงเอาภาพนี้ออกมาเตือนแก่รัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา?

ตอบว่า เพราะเสี่ยงจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนทางทะเลไปให้แก่กัมพูชา

รูป 5 พลเรือเอก พัลลภ เปิดเผยว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่กติกาเขตทะเลของสหประชาชาติ ปี 1982 ข้อ 11 ซึ่งระบุว่า

สิ่งก่อสร้างถาวรตอนนอกสุดของเขตท่า ซึ่งประกอบเป็นส่วนอันแยกออกมิได้ของระบบการท่านั้น ให้ถือว่าประกอบเป็นส่วนของฝั่งทะเล

อธิบายแบบง่ายก็คือ การมีสันเขื่อนนี้จะทำให้กัมพูชาสามารถอ้างเขตทะเลได้กว้างขึ้น

ถามว่า ไทยและกัมพูชาประกาศเขตทะเลอย่างไร?

ตอบว่า ในรูป 6

– ไทยประกาศตามเส้นสีน้ำเงิน โดยยึดตามหลักกติกาเขตทะเลของสหประชาชาติ ค.ศ. 1958 ซึ่งกำหนดให้ใช้เส้นแบ่งครึ่งระหว่างสองประเทศ ที่ลากออกมาจากจุดเส้นแบ่งเขตบนชายฝั่งออกไปยังทะเล

– กัมพูชาประกาศตามเส้นสีแดงที่พาดผ่านเกาะกูด โดยอ้างว่ายึดตามหลักฐานประวัติศาสตร์ในเอกสารที่แนบอยู่ในสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1907

แต่เส้นสีแดงนี้ผิดอย่างชัดเจน เพราะข้อความในเอกสารแนบดังกล่าวประกอบแผนที่สังเขปที่แนบนั้น มีวัตถุประสงค์ชัดแจ้งเพื่อกำหนดจุดเส้นแบ่งเขตบนชายฝั่งเท่านั้น มิใช่เพื่อกำหนดเส้นแบ่งเขตในทะเล

ดังนั้น ในอนาคตถ้ารัฐบาลกัมพูชาจะทำให้ประชาชนชาวไทยยอมรับเส้นแบ่งเขตในทะเล กัมพูชาจะต้องยกเลิกเส้นสีแดง และจัดทำเส้นขึ้นใหม่

ทั้งนี้ ภายหลัง ค.ศ. 1958 หลักกติกาเขตทะเลของสหประชาชาติ ได้มีการเพิ่มฉบับ ค.ศ. 1982 ข้อ 11 อันจะทำให้ถ้าหากมีการลากเส้นแบ่งเขตใหม่ตามกติกาใหม่ดังกล่าว องศาจะเบี่ยงเข้าไปในอ่าวไทย

อันนี้จะทำให้ไทยเสียเขตแดนในทะเล!

ถามว่า รัฐบาลไทยควรปฏิบัติอย่างไร?

ตอบว่า ขอแนะนำให้รัฐบาลของท่านนายกฯ เศรษฐา มีหนังสือประท้วงรัฐบาลกัมพูชาทันที โดยเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาทำลายสันเขื่อน พร้อมแจ้งว่า รัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับเส้นแบ่งครึ่งระหว่างสองประเทศตามกติกาสหประชาชาติกรณีที่จะถูกเบี่ยงเบนไปเนื่องจากสันเขื่อนดังกล่าว

ผมขอย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ประเทศไทยที่เสียพื้นที่บนบกไปให้แก่กัมพูชาในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ก็สืบเนื่องจากปัญหาทำนองนี้ (ซึ่งจะบรรยายในบทความต่อไป)

คนไทยทุกคนในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 จึงจะต้องยึดบทเรียนประวัติศาสตร์ร่วมกันปกป้องมิให้มีการเสียพื้นที่ในทะเล

วันที่ 5 เมษายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์
วันที่: 8 เมษายน 2567

" ,