โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 30 มีนาคม 2024

พัชรวาท ตรวจฝุ่น ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ชมผู้ว่าฯปทุมธานี จัดการปัญหาแบบเอาอยู่

,

“พัชรวาท” ตรวจฝุ่น PM2.5 ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ปทุมธานี ชื่นชมผู้ว่าฯ จัดการปัญหาแบบเอาอยู่ ยกสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ขอบคุณชาวนาตื่นตัวลดการเผา

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวง น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการสวนอุตสาหกรรมบางกะดี มีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัทสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี ให้การต้อนรับ ภายหลังเยี่ยมชมสวนอุตสากรรมบางกะดีแล้วเสร็จ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ของบริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด และแปลงนาสาธิตการทำนาปลอดการเผา

พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมและติดตามปัญหาปัญหาฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งบริหารจัดการได้ดีมาก ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯปทุมธานี โดยที่ปทุมธานีมีพื้นที่การทำนาถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 3,400 แห่ง แต่ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสวนอุตสาหกรรมที่มี 38 โรงงาน แต่สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม มีระบบบำบัดอากาศทำให้ไม่ส่งผลกระทบด้านฝุ่น สามารถอยู่ร่วมกับชุมชน และยังเป็นต้นแบบโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่วนการดูงานโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันและลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยนำเศษวัสดุการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าว ใบอ้อย ไม้ไผ่ต้นและซังข้าวโพด เปลือก มะพร้าว และ เศษต้นไม้อื่นๆ มาอัดเม็ด ทำให้สามารถลดปริมาณฝุ่นและส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่วนแปลงนาปลอดการเผานับเป็นความร่วมมือที่ดีจากชาวนาปทุมธานี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พยายามบูรณาการแก้ปัญหากับทุกภาคส่วนเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ควบคู่กับการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมปลอดการเผาอย่างเป็นอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เป็นแนวทาวช่วยลดการเผา ขณะเดียวกันปัญหานี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายด้วย”

ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4501142
วันที่ 30 มีนาคม 2567