โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“อัครแสนคีรี” เสนอการบริหารจัดการ “เขื่อนลำปะทาว” จ.ชัยภูมิ แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

“อัครแสนคีรี” เสนอการบริหารจัดการ “เขื่อนลำปะทาว” จ.ชัยภูมิ
แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเขื่อนลำปะทาว ทั้งเขื่อนบนและเขื่อนล่าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ในหลายจังหวัดได้เกิดวิกฤตน้ำท่วม เช่น จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวิกฤตน้ำท่วมในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และปีนี้คาดว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน 1 ในสาเหตุที่น้ำท่วมเทศบาลเมืองหนัก 3 ปีติดต่อกัน เกิดจากวิกฤตน้ำล้นเขื่อนลำปะทาวล่าง ผนวกกับน้ำที่ไหลมาจากอำเภออื่นๆ มาบรรจบกัน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า จากสถิติพบว่าช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้าเขื่อนบนราว 4-5.4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในส่วนของเขื่อนล่างน้ำจะไหลเข้าตั้งแต่ 1.69 ถึง 7.6 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำที่สามารถพร่องออกไปได้สูงสุดอยู่เพียงแค่ 3 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งที่จริงแล้วถ้าเราบริหารจัดการเขื่อนลำปะทาวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยบรรเทาเหตุน้ำท่วมในเทศบาลเมืองและยังเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่แห้งแล้ง เช่น อำเภอแก้งคร้อ

“ผมขอเสนอไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและกรมชลประทาน รวมถึงจังหวัดชัยภูมิ ควรจัดตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำเขื่อนลำปะทาว ร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อบริหารน้ำสำหรับการเกษตรแล้วก็อุปโภคบริโภครวมถึงการบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วมไม่ใช่แค่การผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเขื่อนล่างควรเร่งพร่องน้ำก่อนฤดูน้ำหลาก ควรติดตั้งระบบสูบจากเขื่อนล่าง ขึ้นเขื่อนบน โดยเมื่อน้ำใกล้ล้นเขื่อนล่างให้สูบไปเก็บไว้ที่เขื่อนบน แล้วพร่องออกทางอำเภอแก้งคร้อให้มากขึ้น ซึ่งจะบรรเทาน้ำในเทศบาลเมือง น้ำท่วมรวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่แห้งแล้งในอำเภอแก้งคร้อ สุดท้ายควรเพิ่มประตูระบายน้ำ สำหรับเขื่อนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพร่องน้ำเพราะปัจจุบันพร่องได้แค่ 300,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำ สามารถเข้ามาสูงสุดถึง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เท่ากับไม่ถึงไม่ถึง 3 วันน้ำก็ล้นเขื่อนล่างเข้าไปท่วมเทศบาลเมือง”นายอัครแสนคีรี กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 สิงหาคม 2567

" ,