“สันติ รมช.สธ.” ดันนโยบายผลิตแพทย์ป้อน รพ.สต.แห่งละ 3 คน ทั่วประเทศ ปี 68 คัดเด็กนร.หัวกระทิในพื้นที่รับโควต้า มอบ สบช.เร่งทำหลักสูตรการเรียนการสอน
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แนวทางการผลิตแพทย์ป้อนให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งละ 3 คน เพื่อลดผลกระทบด้านภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในการเดินทางมาพบแพทย์ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น และมีประสิทธิในการให้บริการด้านสาธารณสุขที่เพียงพอและคุ้มค่า
เนื่องจากในขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลมีความเดือดร้อนในการเดินทางไปพบแพทย์ในตัวจังหวัด แต่ละครั้งต้องใช้เงินค่าเดินทางจำนวนมาก ซึ่งหากคำนวณว่า 1 คนเดินทางราวๆ 2 พันบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง จึงมีแผนการยกระดับรพ.สต.ให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น โดยมีการหารือในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวง และมีการคำนวณภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วว่า ทุนในการผลิตแพทย์ 1 คน จะใช้ราวๆ 5 ล้านบาท เรียน 6 ปี หากผลิตให้ รพ.สต.แห่งละ 3 คน ก็เท่ากับว่าต้องผลิตแพทย์ทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นคน เมื่อการเรียนแพทย์ต้องใช้เวลานาน 6 ปี หารแล้วปีหนึ่งจะผลิตได้ 5,000 คน รวมแล้วใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
“นักเรียนที่จะมาเรียนแพทย์ตามโครงการนั้น จะเป็นระบบโควต้าในแต่ละจังหวัด เช่น หากในจังหวัดมีรพ.สต. 100 แห่ง 1 แห่งจะใช้ให้มีแพทย์ 3 คน ก็จะได้ 3 พันคน หารด้วยจำนวนปีที่ต้องเรียน คือ 6 ปี ปีละ 50 คน โดยคัดคนที่เรียนจบมัธยมปลายที่มีคะแนนสูงสุดของจังหวัดนั้นๆ เข้าเรียน เมื่อเรียบจบก็กลับมาเป็นแพทย์ในจังหวัดของตนเอง โดยยืนยันว่า การผลิตแพทย์นี้จะป้อนเข้า รพ.สต. ทั้งที่ยังอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และที่มีการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วทั้งหมด”
การผลิตแพทย์ให้ได้ตามจำนวน รพ.สต.ที่มีอยู่ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้าน เป็นงบผูกพันปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ไม่มาก เมื่อเทียบกับค่ารถที่ประชาชนต้องเดินทางไปหาหมอโดยตั้งสมมุติฐานว่า ประชาชน 1 คน เดินทางไปพบแพทย์เฉลี่ย 1 ครั้งต่อปี ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท จึงเป็นที่มาของการผลักดันการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณ ซึ่งที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขมีความเข้าใจในแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยให้สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เป็นหน่วยงานดำเนินการต่อไป
สำหรับแนวทางการบรรจุโครงการเข้าสู่ปีงบประมาณ เดิมพยายามที่จะเริ่มในปี 2567 แต่งบปี 67 ค่อนข้างตึงตัว แต่ก็พยายามผลักดัน อย่างช้าที่สุดคือปี 2568 ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ สบช.เร่งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนของพยาบาลชั้นสูง และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้คนเหล่านี้อบรม เรียนอีกประมาณ 3-4 ปี ออกมาเป็นแพทย์ เพื่อไปประจำรพ.สต.ระยะเร่งด่วนก่อน
นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพของแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยสังเกตจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามาประเทศไทยเพื่อรักษาสุขภาพโดยเฉพาะ ดังนั้นหากเราตั้งใจผลิตแพทย์ที่ทั่วโลกยอมรับ ในอนาคตเมื่อแพทย์พอเพียงแล้ว ก็จะไม่มีการจำกัดให้แพทย์ไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะเท่าที่ศึกษาแพทย์ไทยทำงานต่างประเทศจะมีรายได้เดือนละเกิน 1 ล้านบาท เมื่อไปทำงานต่างประเทศก็จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย
“ตอนนี้ผู้บริหารกระทรวงเห็นด้วยว่า มีความจำเป็น ที่สำคัญที่สุด ได้มาหารือกับหัวหน้าพรรค ท่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยกับแนวทางที่ต้องเร่งผลิตแพทย์ให้เพียงพอ ต่อจำนวนประชากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากในระยะยาว ” นายสันติ กล่าว
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2566