“พล.อ.ประวิตร” ยืนยัน พปชร.จะปกป้องอธิปไตยของชาติเต็มที่ ด้าน “หม่อมกร” ชี้ MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการ อาจจะเป็นเหตุให้ไทยเสียพื้นที่เหมือนเขาพระวิหาร เตรียมยื่นนายกฯ ยกเลิกด่วน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ซี่งได้สั่งการให้ศูนย์นโยบายฯ และวิชาการของพรรค ไปเร่งติดตามความคืบหน้าของ MOU 2544 ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามไว้ ที่นำไปสู่การปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติอย่างสูงสุดในฐานะฝ่ายค้านอย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า MOU 2544 ที่รัฐบาลพยายามจะดำเนินการจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวง จากกรณีศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่มีลักษณะองค์ประกอบคล้ายกันนี้และนำไปสู่การเสียดินแดนในที่สุด ดังนั้น พรรคฯ จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องทรัพยากรและอาณาเขตแห่งราชอาณาจักรไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างถึงที่สุดที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้มีการยกเลิก MOU 2544 หรือขัดขวางการเจรจาใดๆ ที่อาจเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งนี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะปิดสมัยประชุมสมัยสามัญประจำปี 2567 และได้มอบหมายให้ สส.ทุกคนลงพื้นที่ปฎิบัติหน้าที่ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อปัญหาดังกล่าวเสนอต่อสภาฯ ให้สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
จากนั้น ภายหลังการประชุม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ได้แถลงข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สั่งการให้ สส.และบุคลากรของพรรค ขับเคลื่อนเพื่อที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่ เพราะเราต้องคุ้มครองดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของคนไทย พรรคพลังประชารัฐจะไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนในเรื่องนี้ไม่ได้
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อปี 2516 ได้มีพระบรมราชโองการ (Royal Command) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สรุปความว่า เพื่อการใช้สิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอ่าวไทย จึงกำหนดเขตไหล่ทวีปตามแผนที่และพิกัดภูมิศาสตร์โดยยึดถือมูลฐานแห่งสิทธิตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เจนีวา 1958 อันเป็นที่ยอมรับกัน โดยท้ายพระบรมราชโองการยังกำหนดไว้ว่า สำหรับสิทธิที่เป็นอาณาเขตต่อเนื่องกับประเทศใกล้เคียง ก็ให้ยึดถือบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา เจนีวา 1958
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การที่กัมพูชาขีดเส้นเขตแดนทางทะเลทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ขีดข้ามเกาะกูด ทะลุไปกลางอ่าวไทย ซึ่งขัดอนุสัญญาเจนีวา 1958 เส้นดังกล่าวจึงขัดกับแผนที่แนบ พระบรมราชโองการที่ประกาศไว้ โดย MOU 2544 ซึ่งรับรองการขีดเส้นแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ เพราะท้ายพระบรมราชโองการระบุชัดเจนว่า อาณาเขตต่อเนื่องกับประเทศใกล้เคียง ก็ให้ยึดถือบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา เจนีวา 1958
“เมื่อเอกสารราชการมีการขัดกัน จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่ต่างประเทศจะนำไปอ้างและอาจจะทำให้เราสูญเสียเหมือนกรณีเขาพระวิหาร นี่คือสาเหตุที่เราสมควรต้องยกเลิก MOU 2544 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องอันตราย“ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค.) เวลา 09.00 น.ทีมพรรคพลังประชารัฐจะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อาคารรัฐสภา พร้อมทั้งยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ตุลาคม 2567