โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“พล.อ.ประวิตร”ถก“ชัชชาติ”แผนเร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออก กทม. ลดผลกระทบน้ำท่วมขังให้ประชาชนกลับสู่ภาวะปกติ

“พล.อ.ประวิตร”ถก“ชัชชาติ”แผนเร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออก กทม.
ลดผลกระทบน้ำท่วมขังให้ประชาชนกลับสู่ภาวะปกติ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 และประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ลดความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยการประชุมทั้ง 2 คณะในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรก ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหม่ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่ได้วางไว้ โดยเฉพาะแนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่ กทม. แบ่งเป็น ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) เช่น งานปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กจากคลองหนองบอน และคลองมะขามเทศ เชื่อมโยงกับคลองประเวศบุรีรมย์ ระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงเครื่องสูบน้ำของสถานีสูบน้ำพระโขนงให้มีประสิทธิภาพในการสูบระบายน้ำมากยิ่งขึ้น และการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กในพื้นที่คลองสายสำคัญที่เชื่อมต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ เช่น คลองจระเข้ขบ คลองสองต้นนุ่น คลองทับยาว เป็นต้น เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ และกลุ่มที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อ กทม. เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และประตูระบายน้ำลาดกระบัง โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำสำโรง โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองลำปลาทิว เป็นต้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ จ.ปทุมธานี กทม. และ จ.สมุทรปราการ ลดความเดือดร้อนของประชาชนและความเสียหายต่อทรัพย์สินจากปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวของเมืองในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริได้อีกด้วย

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบและให้นำเสนอแนวคิดต่อ กนช. และให้ กทม.เร่งรัดดำเนินการแผนงานในกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) เพื่อเสนอขอรับงบประมาณในปี 2567 รวมทั้งให้เร่งศึกษาภาพรวมการระบายน้ำพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับแผนงาน/โครงการของหน่วยงานอื่น เช่น โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างของกรมชลประทาน และแผนงานระบบระบายน้ำของเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ เพื่อให้การระบบระบายน้ำมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที และให้เร่งรัดการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ดำเนินการได้โดยเร็ว

ด้านดร.สุรสีห์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี โดยให้กรมชลประทานเร่งประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เห็นชอบในการขอใช้พื้นที่โดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) ตามที่ สทนช. เสนอ โดยได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการวิเคราะห์ให้รองรับสถานการณ์ในอนาคต พร้อมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป


ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ตุลาคม 2565

" ,