โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“พล.อ.ประวิตร” เผยผลการศึกษา”กระทรวงทรัพยากรน้ำ”คืบหน้า เตรียมพิจารณาลงลึกรายละเอียดสู่แผนบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

“พล.อ.ประวิตร” เผยผลการศึกษา”กระทรวงทรัพยากรน้ำ”คืบหน้า
เตรียมพิจารณาลงลึกรายละเอียดสู่แผนบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

(18 พฤศจิกายน 2565 )พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเบื้องต้น ถึงผลการศึกษาการจัดตั้ง”กระทรวงทรัพยากรน้ำ” เป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ได้มอบหมาย ให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) , สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกร่างพิมพ์เขียวการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และยกร่างกฎหมายการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (กนช.) เพื่อจะได้พิจารณาในรายละเอียดถึงแนวทางการจัดตั้งที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว เพื่อการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นคงในระบบโครงสร้างพื้นฐานของทรัพยากรน้ำ ของประเทศ

“ ในเป้าหมาย การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เพียงพอ และสมารถป้องกันภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นจากน้ำ ซึ่งมีความสำคัญ กับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของเกษตรกร เพราะในแต่ละปี ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องเผชิญปัญหากับภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง รัฐบาลต้องเร่งวางแผน และช่วยเหลือเฉพาะหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชน จึงได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบให้เกิดความยั่งยืน โดยบูรณาความร่วมมือของหน่วยงานที่ปัจจุบันมีหน่วยเกี่ยวข้องถึง 38 หน่วยงาน ที่สังกัดในกระทรวงต่างๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารไม่สมบูรณ์ และไม่เป็นเอกภาพ จึงเห็นว่า กระทรวงน้ำ จะเป็นศูนย์รวมการบริหารจัดการน้ำได้อย่างสัมฤทธิ์ผลในระยะยาว”

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าว ได้สรุปภาพรวม แนวโน้มบริบทของน้ำในอนาคตว่ามีความต้องการน้ำสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำ ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนของสภาวะภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนสูง ในขณะที่แหล่งน้ำต้นทุนต้องมีการจัดหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วน และเป็นไปอย่างล่าช้า โครงสร้างของหน่วยงาน มีความซ้ำซ้อน ทำให้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำยังขาดเอกภาพและการบูรณาการที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการ ต้องเน้นความสำคัญของประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องสอบถามความต้องการที่แท้จริง ในด้านการวางระบบน้ำทั่วประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีแหล่งน้ำที่มาใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ต้องดูแลในทุกมิติอย่างรอบคอบ ดังนั้นความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ จึงเป็นแนวทางที่สำคัญ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ของการใช้ทรัพยากรน้ำ ให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 พฤศจิกายน 2565